ชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ยื่นศาลอาญาเพิกถอน “คำสั่งศาลจังหวัด” ขัด รธน.
เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 26 กรกฎาคม 2554 เวลา 17:59 น.
เขียนโดย
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
หมวดหมู่
กลุ่มคนฮักท้องถิ่นเชียงราย ต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ถูกนายทุนฟ้องกลับ โดนศาลจังหวัดสั่งห้ามเคลื่อนไหวคัดค้าน ล่าสุดชาวบ้านร้องศาลอาญากรุงเทพฯ เพิกถอนคำสั่ง ระบุขัด รธน.ว่าด้วยสิทธิและการมีส่วนร่วมในโครงการที่อาจมีผลกระทบชุมชน
วันที่ 26 ก.ค.54 กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลจังหวัดเชียงราย ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3590/2553 ซึ่งบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางอุบลรัตน์ ปิยะโกศล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายกฯอบต.) เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย กับพวกรวม 16 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยเอกสารและความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 โดยศาลอาญา ได้รับคำฟ้องบรรจุเป็นคดีพิเศษที่ ษ.28/2524
ทั้งนี้ข้อพิพาท สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลให้บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ประมาณ มี.ค.53 บริเวณบ้านไตรแก้ว ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ท่ามกลางการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ นายกฯอบต.เวียงเหนือจึงจัดประชุมสภาตำบลเพื่อขอความเห็นสมาชิก และมีมติไม่เห็นชอบการออกใบอนุญาตฉบับดังกล่าว โดยเหตุว่ามีประชาชนร้องเรียนจำนวนมาก และการขอออกใบอนุญาตไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบล จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาให้ยกเลิกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การถูกบริษัทฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงราย
โดย กลุ่มชาวบ้าน ระบุว่าเหตุที่ต้องเดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลอาญาครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการพิจารณาของศาลจังหวัดเชียงรายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหลายประการ กล่าวคือจัดให้มีการลงดูพื้นที่พิพาทคือโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุรินทร์ และหลังจากนั้นนัดไกล่เกลี่ยคู่ความและออกข้อกำหนดห้ามจำเลยทั้ง 16 คนยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวใดๆ อันเป็นการคัดค้านการก่อสร้างของโจทก์ ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจำเลยที่ 1 ยังได้ร้องขอให้กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เข้ามาช่วยเหลือคดี แต่ไม่สามารถจัดหาทนายความได้ทันกำหนดนัด จึงขอเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องออกไป ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งยกคำร้องและไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ไปฝ่ายเดียว และมีคำสั่งรับฟ้องในเวลาต่อมา
กลุ่มอนุรักษ์คนฮักท้องถิ่น เห็นว่ากระบวนพิจารณาดังกล่าว ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้เสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ อันเป็นสิทธิที่จำเลยในคดีอาญาจะได้รับตามหลักที่ว่าต้องได้รับการพิจารณาที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 40 คำสั่งและกระบวนพิจารณาคดีของศาลจังหวัดเชียงรายจึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนในส่วนของสิทธิชุมชน มาตรา 66 และมาตรา 67 สิทธิในการมีส่วนร่วมในโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน มาตรา 57 และเสรีภาพในการชุมนุม มาตรา 63
ทั้งนี้กรณีพิพาทเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล มิได้มีเพียงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งที่พบในหลายพื้นที่ โดยเป็นปัญหาระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐกับชุมชน และระหว่างบริษัทเอกชนกับชุมชน เนื่องจากโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมะวัตต์ ไม่ต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ประกอบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำหลักเกณฑ์ในการอนุมัติอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้การอนุมัติอนุญาตในปัจจุบันเป็นปัญหาอย่างมากในแง่ของความรอบคอบรอบด้าน และการคำนึงถึงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดกับประชาชนและชุมชนในพื้นที่