สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ห่วงเอกชนไร้แผนรับมือภาวะโลกร้อน
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ห่วงภาคเอกชนไม่ให้ความสำคัญในการเตรียมแผนรับมือกับภัยธรรมชาติ ชี้ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ แนะการวางผังเมืองที่ดีจะช่วยให้รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดงานเสวนา “แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถานบันสิ่งแวดล้อมไทย นำเสนอในหัวข้อเรื่อง “ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของภาคเอกชน” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถานบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึงการขับเคลื่อนของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ว่า ภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ เพราะหากเอกชนรับรู้และปรับตัวได้ทันก็จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้สถานการณ์นั้น เช่น ภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ น้ำท่วม หรือแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการเตรียมความพร้อมรับมือเป็นสิ่งสำคัญโดยต้องดำเนินการวางแผนและจัดทำให้รวดเร็วที่สุด
“วิธีการคือถ้าธุรกิจที่อยู่ในเมืองต้องมองเรื่องแผ่นดินไหว มองระบบสาธารณูปโภคที่ต้องเกิดขึ้น มีน้ำเพียงพอหรือไม่ มีน้ำที่จะหล่อเลี้ยงธุรกิจได้ไกลหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่เริ่มเตือนกันมากขึ้นว่าเวลาที่ต้องลงทุน ต้องมองในแง่ผลเสียของการเปลี่ยนแปลงอากาศของวัตถุดิบ ยกตัวอย่าง บางพื้นที่อยู่พื้นที่น้ำท่วมการไปสร้างอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่นั้นก็เป็นความเสี่ยงอีกแบบหนึ่งที่เราไม่ควรจะส่งเสริม”
ทั้งนี้ ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวถึง “ผังเมือง” คืออีกแผนหนึ่งที่จะต้องดำเนินการวางระบบให้มีประสิทธิภาพและเตรียมพร้อมรับมือภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น การจัดพื้นที่อุตสาหรรม พื้นที่เสี่ยง และพื้นที่อยู่อาศัย แยกไว้ในแต่ละส่วน ที่แตกต่างกัน เพื่อลดการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
“ในประเทศไทยตอนนี้เราเสี่ยงหลายด้านมาก เรื่องน้ำและความร้อนเป็นตัวสำคัญ เพราะความร้อนอาจก่อให้เกิดปัญหาเยอะ ขยะที่เกิดการลุกไหม้ในหลุมฝังกลบก็คือความร้อนที่สะสมแล้ว ก็เป็นชนวนให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้ ความร้อนที่เกิดขึ้นในแง่ของอากาศทำให้เราต้องใช้พลังงานสูงขึ้นอีก รวมถึงเรื่องของแผ่นดินไหวหรือสึนามิที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด ” ดร. ขวัญฤดี กล่าว พร้อมแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกันกันและเป็นผลให้เกิดปัญหาภัยธรรมชาติต่างๆ ตามมาในอนาคต
ดร. ขวัญฤดี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาคเอกชนไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและสนใจในประเด็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภาคเอกชนยังคงสนใจการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวก็หาทางแก้ไขได้ยาก
“ภาคเอกชนต้องมานั่งดูว่าจะเกิดความเสี่ยงในระยะยาวที่ไม่แน่นอน ต้องเตรียมแผนรับมือ พอเกิดปัญหาขึ้นอย่างกะทันหันเราก็นำแผนที่เราเตรียมพร้อมนำมาใช้ได้อย่างทันท่วงที”