จับเข่าคุย “วิชา มหาคุณ” : ถ้าเกิดทุจริต ผู้บริหารแผ่นดินต้องรับผิดชอบ
“…สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้คือการเตือนในเรื่องของจริยธรรมทางการเมือง ถ้าคุณสั่งการหรือทำในฐานะนายกรัฐมนตรี คุณต้องรับผิดชอบ และเราไม่ได้กล่าวหาคุณว่าคุณทุจริตในเรื่องจำนำข้าว เรากล่าวหาว่านี่มันเกิดความเสียหายขึ้นอย่างใหญ่หลวงในแผ่นดิน คุณเอาเงินของรัฐมาหมุน และคุณต้องเป็นคนรับผิดชอบในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)…”
หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยกันว่า เหตุใดที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในส่วนของการถอดถอนก่อน
ทำไมถึงไม่ชี้มูลความผิดในคดีอาญา รวมไปถึงคดีความอื่น ๆ เช่น คดีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) และคดีการระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น
“…ความไม่น่าเชื่อถือของคนมันต้องเร็ว เพราะว่าโดยปกติแล้ว ถ้าคนเขาไม่เชื่อถือ นักการเมืองก็มักลาออกอยู่แล้ว แต่ว่าประเทศเรานักการเมืองไม่ยอมลาออก ก็เลยต้องหนัก…”
เป็นคำพูดจากปากของ “วิชา มหาคุณ” โฆษกกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ยืนยันว่า นักการเมืองต้องมีจริยธรรมที่สูงกว่าคนอื่น หากไม่เช่นนั้นก็สมควรลาออกไปเสีย
ทำไม “วิชา” จึงกล่าวเช่นนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
@เข้ามาทำในคดีโครงการจำนำข้าว มีความกดดันมาก - น้อยมากแค่ไหน
ในการทำงานเราก็รู้อยู่ว่ามันเป็นเรื่องของการเมือง แต่ใครว่าอะไรเราแค่ไหน เราก็ไม่รู้สึกกดดันเท่ากับที่มาทำลายสำนักงาน ปิดล้อม มายิง เพราะเราเป็นกังวลกับคนของเรา โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เขาไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร แต่ก็ดีที่สื่อช่วยเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง และก็รับลูกไปตลอด ทำให้กระบวนการอย่างนี้มันถูกประณาม ถูกโจมตี แม้กระทั่งสำนักข่าวจากต่างประเทศก็ยังเสนอข่าว ก็เป็นที่น่าพอใจว่า เขาได้ช่วยสนับสนุนองค์กร ป.ป.ช. มันก็มาจากสื่อส่วนหนึ่งที่เสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง
@ตั้งแต่รับหน้าที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. คดีไหนยุ่งยากที่สุด
คดีที่ยุ่งยากมาก น่าจะเป็นเรื่องคดีคลองด่าน ที่ต้องใช้เวลา และใช้ทั้งข้อมูลทางด้านการตรวจสอบพื้นที่ด้วย และก็ลงมาถึงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย เพราะว่ามันต่อเนื่องจากการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ และเป็นกระบวนการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย มันเป็นโครงการที่ใหญ่มาก และมีพยานหลักฐานค่อนข้างจะซับซ้อน ถือว่าเป็นคดีแรกของผมที่ประสบความสำเร็จ
@คดีโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบมาตลอด คิดว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่
ประสบความสำเร็จในยุคใหม่ ในยุคปัจจุบันที่มีการร้องเรียนและใช้นโยบายทุจริตเข้ามาแทรกแซง หรือว่าเข้ามาดำเนินการทำให้ต้องตรวจสอบพยานหลักฐานกันอย่างหนัก เพราะว่าค่อนข้างจะยุ่งยากพอสมควรเหมือนกัน แต่ว่า เรามองว่าเขารีบร้อนในการดำเนินการ เพราะฉะนั้นมันก็จะทิ้งให้เราเห็นร่องรอยอยู่ตลอดระยะทางที่เขาดำเนินการ
แต่อย่างคดีคลองด่านนี่คือเราตามหลังจากที่มันจบแล้ว คือกระบวนการมันยึดที่ไปแล้ว ออกโฉนดไปแล้ว มันเหมือนกับว่ามาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ หลังจากที่เขาจบหมดแล้ว แต่ว่าคดีจำนำข้าวเป็นคดีที่เดินตามรอยที่เขายังดำเนินการอยู่ ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ยอมเลิก ฉะนั้นมันคนละแบบ
@มีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงไม่ชี้มูลผิดคดีถอดถอนพร้อมกับคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว
มันชี้มูลไม่ได้ เพราะเรื่องของคดีอาญามันเป็นเรื่องของการเอาคนเข้าคุก คุณจะเอาใครเข้าคุกเนี่ย อย่างศาลกว่าจะสู้กันหรืออะไรกัน ใช้เวลาตั้ง 3 ศาล จะเอาเขาผิดได้ จะจำคุกเขา จะดำเนินการเรื่องคดีอาญามันไม่ใช่ง่าย
แต่ว่าคดีถอดถอนมันไม่ได้เริ่มต้นจากเรา เป็นคดีที่วุฒิสภาส่งมา เราเพียงแค่ทำหน้าที่ชงให้ ไต่สวนเบื้องต้นให้ท่าน ส่วนท่านจะไต่สวนหรือไม่เป็นเรื่องของท่าน แต่ว่าคดีอาญาเราต้องรับผิดชอบ เพราะว่าเราต้องส่งสำนวนทั้งหมดให้อัยการ ถ้าอัยการท่านไม่เห็นด้วย เราก็ต้องตั้งคณะทำงานร่วมอีก เสียเวลาอีก
แทนที่ว่าเราจะส่งสำนวนแล้วฟ้องได้เลย แต่กลับฟ้องไม่ได้ ถ้าเรารีบร้อน แล้วอัยการก็สามารถตั้งข้อสังเกตกับเราได้ว่า คุณรีบร้อนเกินขนาด คุณจะเอาผิดกับคนโดยไม่มีพยานหลักฐานเลย มันแสดงให้เห็นเลยว่าเรามีจิตใจอคติ ไม่ได้ให้โอกาสเขาเลย แต่ว่าอย่างถอดถอนเรามีเวลาให้โอกาสกับเขา ที่เขาจะไปแก้ต่างที่วุฒิสภา แล้วเรื่องของวุฒิสภาก็เป็นเรื่องการถอดถอน ซึ่งเป็นเรื่องของการกระทำผิดทางการเมือง
ความไม่น่าเชื่อถือของคนมันต้องเร็ว เพราะว่าโดยปกติแล้ว ถ้าคนเขาไม่เชื่อถือ นักการเมืองก็มักลาออกอยู่แล้ว แต่ว่าประเทศเรานักการเมืองไม่ยอมลาออก ก็เลยต้องหนัก ปัญหานี้ก็เลยตกหนักกับ ป.ป.ช. ว่าต้องทำเรื่องให้ไปถึงวุฒิสภา แต่ความจริงแล้วที่ต่างประเทศพอเขาถูกดำเนินการไต่สวน เขาก็ขอลาออกแล้ว หรือยังไม่ทันไต่สวนเขาก็ขอลาออกเช่นกัน
@หมายความว่าปัญหาอยู่ที่จริยธรรมของนักการเมืองใช่หรือไม่
ใช่ เป็นเรื่องของจริยธรรม ฉะนั้นเราจึงไม่มีความรู้สึกว่า เราไปรังแกเขาหรือไม่ มันไม่ใช่ เพราะนักการเมืองต้องมีจริยธรรมที่เหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว
@กรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือการระบายข้าวโครงการรับจำนำข้าวยังไม่มีการชี้มูลผิด แต่กลับชี้มูลผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์เสียแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
มันไม่ได้ ผู้บริหารราชการแผ่นดินต้องรับผิดชอบ ก็นี่ไง จริยธรรมไง สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้คือการเตือนในเรื่องของจริยธรรมทางการเมือง ถ้าคุณสั่งการหรือทำในฐานะนายกรัฐมนตรี คุณต้องรับผิดชอบ และเราไม่ได้กล่าวหาคุณว่าคุณทุจริตในเรื่องจำนำข้าว เรากล่าวหาว่านี่มันเกิดความเสียหายขึ้นอย่างใหญ่หลวงในแผ่นดิน คุณเอาเงินของรัฐมาหมุน และคุณต้องเป็นคนรับผิดชอบในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
คุณจะทำงานในหน้าที่อะไรก็ตามที่รับผิดชอบสูงสุด คุณจะต้องยอมรับว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นคุณก็ต้องรับผิดชอบด้วย
อย่างเช่น นายกรัฐมนตรีของประเทศเกาหลีใต้ เห็นหรือไม่ เรือเขาล่ม เขาประกาศลาออกเลย คุณเข้าใจไหม เขาไม่ต้องไปดูเลยว่าใครผิดใครถูกด้วย เห็นตรงนี้ไหม ใครผิดใครถูกยังไม่รู้เลย เขาประกาศลาออกแล้ว เพราะเขาต้องรับผิดชอบความเสียหาย ความสูญเสียที่มันเกิดขึ้น ที่มันสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก