"รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง แต่ไม่ได้มาด้วย มาตรา 7"
หมายเหตุ : ข้อเสนอ ของ อ.โคทม อารียา และกลุ่มเพื่อนนักวิชาการสันติศึกษา
ข้อเสนอเพื่อเปิดบทสนทนาเรื่อง
รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางแต่ไม่ได้มาด้วยมาตรา 7
เมื่อมีความขัดแย้ง คนส่วนใหญ่จะ (1) ใช้วิธีหลีกเลี่ยง ไม่เผชิญหน้า หรือชะลอปัญหาไว้ก่อน หรือ (2)ใช้วิธีสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ หรือ (3) ใช้วิธีที่คู่ขัดแย้งมาร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหา วิธีที่ (3) นี้ไม่มุ่งหวังชัยชนะโดยเด็ดขาดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หากเป็นชัยชนะร่วมกันที่ทำให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ วิธีนี้แม้ยังใช้กันน้อยแต่มีโอกาสความยั่งยืนมากกว่า
ความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ยืดเยื้อมากว่าหกเดือนแล้ว แม้ทุกฝ่ายต่างยืนยันในสันติวิธี แต่สังคมก็ประจักษ์แล้วว่า การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินส่วนรวมได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจำต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า มีประชาชนที่คิดเห็นแตกต่างกันจำนวนนับล้านคน ชัยชนะของฝ่ายหนึ่งโดยปฎิเสธการดำรงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมไม่ใช่หนทางที่ช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืนได้ การได้ชัยชนะจึงต้องหมายความว่า คนที่เห็นต่างยังอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ดังนั้น จึงอยากเสนอให้ทุกฝ่าย ซึ่งหมายรวมถึงประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่เลือกข้าง ได้ช่วยกันใช้จินตนาการสร้างสรรค์ในการหาทางออกด้วยการร่วมคิดร่วมตัดสินใจตามข้อ (3) ข้างต้น และพร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงจากการตัดสินใจร่วมกันนั้น
ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. เสนอให้มีการใช้มาตรา 7 เพื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลาง แล้วเดินหน้าปฏิรูป หรือกำหนดที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปฏิรูปแล้วจึงเลือกตั้ง ส่วนฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ นปช. เสนอให้คณะรัฐมนตรีปัจจุบันรักษาการตามมาตรา 181 ต่อไปจนกว่าจะเลือกตั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 7 แต่ไม่ขัดข้องในเรื่องการปฏิรูป
หลักคิดที่อาจใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวพ้นความเห็นแย้งข้างต้น แล้วหันมาร่วมกันเปิดบทสนทนาและหาทางแก้ไขปัญหา คือ (1) การอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญโดยที่แต่ละฝ่ายยอมรับได้ว่าเป็นเช่นนั้น (2) การมีคนกลางในความหมายของผู้ไม่ฝักใฝ่ (non-partisan) มาทำหน้าที่เป็นหลักในบริหารราชการแผ่นดินในช่วงวิกฤต และ (3) การมีหลักประกันว่าทุกฝ่ายจะมาร่วมกันปฏิรูปการเมือง ถ้ารับข้อเสนอที่เป็นจุดเริ่มต้นนี้ได้ ก็อาจพิจารณาว่า (1) จะไม่ใช้มาตรา 7 ซึ่งมีข้อโต้แย้งกันมากในเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งคนกลางดังกล่าว (2) การไม่ใช้มาตรา 7 อาจหมายถึง การที่คนกลางจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเต็มขั้น แต่เป็นรองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ (3) จะมีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่ององค์กรปฏิรูปการเมืองที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป โดยเป็นข้อเสนอที่ได้มาก่อนการเลือกตั้ง
ข้อเสนอหนึ่งที่คู่ขัดแย้งควรมาร่วมกันพิจารณาคือ จะสรรหารองนายกรัฐมนตรีผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางอย่างไร จากนั้นจึงร่วมมือกันสรรหาบุคคลดังกล่าว เมื่อได้ชื่อที่เห็นพ้องกันแล้ว รักษาการนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้รองนายกรัฐมนตรีคนกลางทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนคนปัจจุบัน
วิธีหนึ่งในการสรรหารักษาการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลาง คือให้คู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย (สองพรรคการเมือง และสองขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง) เสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาจำนวนหนึ่ง เช่นฝ่ายละ 3 คน แล้วทุกฝ่ายมาประชุมพิจารณาสรรหาจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ส่วนคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าว อาจได้แก่ (1) ไม่มีพฤติกรรมหรือการแสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ (2) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (3) มีความรู้ความสามารถในการบริหารราชการในยามวิกฤตโดยเป็นที่ยอมรับในแวดวงต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ แวดวงข้าราชการ แวดวงธุรกิจ วงการต่างประเทศ และภาคประชาสังคม
เมื่อมีรองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการนายกรัฐมนตรีและเป็นคนกลางแล้ว อาจมีการปรึกษาหารือกันเพื่อดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีคนกลางคนหนึ่งมาทำหน้าที่ประสานงานการปฏิรูปการเมือง และอาจมีรัฐมนตรีคนอื่น ๆ อีก (โดยไม่เกินจำนวนรวม 35 คน) ซึ่งอาจดำเนินการแต่งตั้งจากคนกลางหรือจากฝ่ายค้านก็ได้ เพื่อมาทำหน้าที่ช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองครั้งนี้ ทั้งนี้ ขอให้รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดให้มีการปรึกษาหารือดังกล่าว
จากนั้นขอให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันคิดเรื่องกระบวนการปฏิรูป และร่วมกันจัดทำข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปฏิรูป แล้วนำข้อเสนอดังกล่าวไปลงประชามติ ซึ่ง กกต. เป็นผู้จัดอย่างไม่เป็นทางการ ในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้ง เพื่อประหยัดงบประมาณ ตลอดจนลดขั้นตอนและเวลา หากผู้ออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว ก็จะเป็นข้อผูกพันทางการเมืองต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต่อไป
อนึ่ง ควรมีการปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันก่อนการเลือกตั้ง ในเรื่องการแบ่งปันอำนาจบริหารและนิติบัญญัติหลังเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งเฉพาะกาล เช่น 1 ปี ของรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยให้มีการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเมื่อครบกำหนด 1 ปี
ข้อเสนอนี้จัดทำขึ้นโดยเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนท่าทีและการเริ่มยอมรับความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนการปฎิรูปการเมืองของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะสร้างความหวังแก่ประชาชนส่วนใหญ่ในชาติได้ ขณะเดียวกันจะเป็นการลดเงื่อนไขของสถานการณ์ที่ตึงเครียด และช่วยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงรวมทั้งการรัฐประหารเข้าแก้ไขปัญหา หากว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันคิดต่อจากข้อเสนอนี้ คือมาร่วมกันเปิดบทสนทนาและคิดหาทางแก้ไขปัญหาก็จะเป็นการยกระดับสำนึกว่า ชัยชนะโดยเด็ดขาดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยละเลยการเมืองที่คำนึงถึงจริยธรรมและการอยู่ร่วมกันนั้น จะไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ในทางตรงกันข้ามหากเป็นชัยชนะร่วมกัน ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคมการเมืองไทยต่อไป
สุริชัย หวันแก้ว
ฉันทนา บรรพศิริโชติ
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ
สุกัญญา เอมอิ่มธรรม
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
โคทม อารียา
13 พฤษภาคม 2557