มุมมองผู้ปกครองต่อระบบการศึกษาไทย ปี 57 ไม่ต่างจาก 5 ปีที่แล้ว
ประเด็นสำคัญ
• ผลการสำรวจมุมมองของผู้ปกครองต่อระบบการศึกษาไทยปี 2557 โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ มองว่า ภาพรวมการศึกษาไม่แตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในสัดส่วนรองลงมามองว่าภาพรวมการศึกษาดีขึ้น โดยพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมองว่า ภาพรวมการศึกษาดีขึ้นจากการแข่งขันกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน
• ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเข้าถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง บ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบการศึกษาไทยที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงกับภาพอนาคตที่ผู้ปกครองอยากเห็นความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาทั่วประเทศมากที่สุด
• อย่างไรก็ตาม ความนิยมเรียนเสริมทักษะด้านต่างๆนอกเหนือการศึกษาในระบบ และผลการวัดระดับทักษะด้านต่างๆที่พบว่าบุคลากรไทยยังมีระดับทักษะอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่จำเป็นต้องพัฒนาทั้งหลักสูตรการศึกษาและทรัพยากรด้านการศึกษา รวมถึงการวางแผนผลิตบุคลากรในระยะยาว เพื่อรองรับการแข่งขันในภาคธุรกิจที่สูงขึ้นและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจมุมมองของผู้ปกครองต่อระบบการศึกษาไทยปี 2557 ช่วงระหว่างวันที่ 10-28 มีนาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในความดูแลอุปการะในจังหวัดกรุงเทพฯและปริมณฑลเชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และภูเก็ต ครอบคลุมทุกระดับรายได้และระดับการศึกษาของบุตรหลาน จำนวน 1,013 คน เพื่อนำเสนอสถานะของระบบการศึกษาไทยและความคาดหวังต่อระบบการศึกษาไทยในมุมมองของผู้ปกครอง โดยผลการสำรวจมีดังนี้
ผู้ปกครองส่วนใหญ่มองภาพรวมการศึกษา...ไม่แตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และดีขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ตามลำดับ
จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 41 มองว่า ภาพรวมการศึกษาไม่แตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552) ซึ่งได้มีการปฏิรูปการศึกษาเป็นครั้งล่าสุด ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36 มองว่า ภาพรวมการศึกษาดีขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 23 มองว่า ภาพรวมการศึกษาแย่ลงกว่าเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 77 มองว่า ภาพรวมการศึกษาไม่แย่ลงจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณามุมมองต่อการศึกษาในปัจจุบัน จำแนกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น มองว่า ภาพรวมการศึกษาดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา และภูเก็ต มองว่า ภาพรวมการศึกษาไม่แตกต่างจากระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมองว่าภาพรวมการศึกษาดีขึ้นนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ก่อให้เกิดการขยายตัวด้านความเป็นเมือง หรือ Urbanization ตามมา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกระดับการศึกษาต่างก็ขยายการให้บริการมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันอย่างคึกคัก จึงส่งผลให้จำนวนสถาบันการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มสูงขึ้นและมีการแข่งขันกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนตามมา ส่งผลให้ภาพรวมการศึกษาในมุมมองของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีขึ้น
ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเข้าถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย...มีแนวโน้มลดลง ตอบโจทย์ตรงกับภาพอนาคตที่ผู้ปกครองอยากเห็นมากที่สุด
เมื่อพิจารณามุมมองต่อความก้าวหน้าในการเข้าถึงการศึกษาจำแนกตามระดับการศึกษาของบุตรหลาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่า บุตรหลานของตนเองมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับปานกลางถึงมาก โดยเมื่อพิจารณามุมมองต่อความก้าวหน้าในการเข้าถึงการศึกษา จำแนกตามรายได้ของผู้ปกครองควบคู่กันไป ก็พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท หรือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางส่วนใหญ่ มองว่า บุตรหลานของตนเองมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับมาก
ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กำลังทรัพย์ของผู้ปกครองในการสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลานไม่ได้เป็นข้อจำกัดสำหรับการเข้าถึงการศึกษามากนัก โดยบุตรหลานของผู้ปกครองกลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้เช่นเดียวกันกับบุตรหลานของผู้ปกครองกลุ่มที่มีรายได้สูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในมุมมองของผู้ปกครองกลุ่มที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นนั้น รู้สึกพึงพอใจต่อโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเนื่องจากระดับการศึกษาดังกล่าวยังเป็นระดับการศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไม่สูงมากนัก สอดคล้องกับผลการสำรวจที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นส่วนใหญ่ มองว่า บุตรหลานของตนเองมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับปานกลางถึงมาก
สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง หรือแนวโน้มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากการสนับสนุนการศึกษาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการมุ่งขยายโอกาสการศึกษาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนการศึกษา โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะผ่านการเรียนรู้จากการทำกิจกรรม และโอกาสในการเรียนรู้ผ่านการส่งเสริมการศึกษานอกเหนือจากในสถาบันการศึกษา เช่น ห้องสมุด สื่อการเรียนออนไลน์ เป็นต้น รวมไปถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ทั้งประเภทสามัญศึกษาและประเภทอาชีวศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2552
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องขยายโอกาสเข้าถึงการศึกษาสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยยิ่งขึ้นต่อไป
สำหรับภาพอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่กลุ่มตัวอย่างอยากเห็นนั้น มีคะแนนใกล้เคียงกันในทุกด้าน โดยกลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาทั่วประเทศเป็นภาพอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่อยากเห็นมากที่สุดร้อยละ 89 รองลงมา กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนการมีหลักสูตรการศึกษาที่เน้นการคิดวิเคราะห์และมีความเข้มข้นในเนื้อหาเป็นภาพอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่อยากเห็นรองลงมาร้อยละ 88
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เมื่อพิจารณาผลการสำรวจที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งมีความสอดคล้องกับภาพอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่ผู้ปกครองอยากเห็นมากที่สุด ข้อมูลดังกล่าว ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบการศึกษาไทยที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงกับภาพอนาคตของระบบการศึกษาไทยที่ผู้ปกครองอยากเห็นความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงการศึกษาทั่วประเทศมากที่สุด
ที่มา : โพลล์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
แนะพัฒนาระบบการศึกษาทั้งหลักสูตรและทรัพยากร รวมถึงวางแผนผลิตบุคลากรในระยะยาวเพื่อเตรียมคนรับ AEC
แม้ว่าผลการสำรวจจะสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบการศึกษาไทยในบางมิติ ยกตัวอย่างเช่น ความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของประเทศไทยที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้บุคลากรไทยสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างทั่วถึง โดยปราศจากข้อจำกัดด้านต่างๆ ที่จะนำมาสู่การผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับประเทศต่อไป แต่ก็เป็นที่ยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยยังต้องได้รับการพัฒนาในอีกหลากหลายมิติ เช่น หลักสูตรการศึกษา ทรัพยากรด้านการศึกษา ที่พบว่า ผู้ปกครองและนักเรียนขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาไทย นำมาซึ่งความนิยมเรียนเสริมทักษะด้านต่างๆนอกเหนือการศึกษาในระบบ เช่น การเรียนกวดวิชา การเรียนภาษาต่างชาติ การเรียนเสริมศักยภาพต่างๆ เป็นต้น ทำให้นักเรียนใส่ใจการเรียนในห้องเรียนน้อยลง อีกทั้งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นสำหรับผู้ปกครอง ซึ่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณ 16,698 ล้านบาท ในปี 2556 ไปสู่ประมาณ 19,275 ในปี 2557 หรือเติบโตร้อยละ 15.4
นอกจากนี้ หากพิจารณาผลการวัดระดับทักษะด้านต่างๆโดยหน่วยงานระดับนานาชาติควบคู่กันไปก็ยังพบว่า บุคลากรไทยยังมีระดับทักษะด้านต่างๆอยู่ในระดับต่ำ ยกตัวอย่างเช่น Programme for International Student Assessment (PISA) ซึ่งเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนไทยที่อายุ 15 ปีในสามทักษะได้แก่ คณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ โดยพบว่า ในปี 2555 นักเรียนไทยมีคะแนนทักษะทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาผลการวัดทักษะภาษาอังกฤษจาก EF English Proficiency Index ในปี 2556 ก็พบว่า ประเทศไทยมีทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในระดับต่ำมาก โดยเป็นประเทศที่มีทักษะภาษาอังกฤษลำดับ 55 รั้งท้ายๆ จากการวัดทักษะภาษาอังกฤษรวม 60 ประเทศ เป็นต้น
ที่มา : Programme for International Student Assessment (PISA)
รวบรวมโดย : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยในหลากหลายด้านที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา นำมาซึ่งความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษาต้องให้ความสนใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพการศึกษาไทยสำหรับผู้ปกครองต่อไป ประกอบกับการแข่งขันในภาคธุรกิจที่สูงขึ้นและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็เป็นปัจจัยที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพรองรับทั้งโอกาสและความท้าทายในอนาคตด้วยเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการพัฒนาระบบการศึกษาไทยนั้น จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้งหลักสูตรการศึกษาที่เปรียบเสมือน Software หรือทักษะและองค์ความรู้ที่จะป้อนไปสู่นักเรียนและการพัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาที่เปรียบเสมือน Hardware หรือเครื่องมือที่จะถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ไปสู่นักเรียนควบคู่กันไป โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
พัฒนาหลักสูตรการศึกษาในทุกมิติ
ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานั้น ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณามิติความหลากหลายของหลักสูตรการศึกษาเพื่อเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและตอบโจทย์สำหรับนักเรียนที่จะนำมาสู่การใส่ใจในการเรียนมากขึ้น รวมถึงยังช่วยบรรเทาค่านิยมในการเรียนสถาบันที่มีชื่อเสียง เลือกเรียนบางสาขาวิชา และมุ่งเน้นผลการเรียนที่ดีที่จะนำมาสู่การผลิตบุคลากรที่มีทักษะสู่ตลาดแรงงานอย่างหลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานอย่างครอบคลุมมากขึ้น
ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษา ยังต้องพิจารณามิติการคิดวิเคราะห์ และมิติความเข้มข้นในเนื้อหาหลักสูตรการศึกษา เพื่อบรรเทาปัญหาการเรียนที่เน้นท่องจำรวมถึงยังเป็นการบรรเทาความนิยมในการเรียนเสริมทักษะด้านต่างๆนอกเหนือการศึกษาในระบบ ท่ามกลางภาวะที่ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานนอกเหนือจากการศึกษาในระบบเพิ่มสูงขึ้น
พัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาและใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษาควรพัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาเช่น ครูผู้สอนสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น ทั้งในด้านความเพียงพอของทรัพยากรด้านการศึกษาต่อจำนวนนักเรียน และด้านคุณภาพของทรัพยากรด้านการศึกษา รวมไปถึงการมุ่งใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้านการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาครูผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถในเชิงลึกเฉพาะด้านและมีจำนวนเพียงพอสำหรับนักเรียน การนำสื่อการเรียนการสอนที่มีความทันสมัยมาใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ที่จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความใส่ใจในการเรียน การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ประเภทอื่นๆนอกเหนือจากในสถาบันการศึกษา เช่น ห้องสมุดชุมชน สื่อการเรียนการสอนออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนขวนขวายหาความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนและปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
นอกจากการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและทรัพยากรด้านการศึกษาแล้ว ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษายังจำเป็นต้องพิจารณาการวางแผนเพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงงานในอนาคตในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลดต้นทุนและการผลิตจำนวนมากมาสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงภาคบริการซึ่งเป็นสาขาที่ใช้แรงงานเป็นหลัก โดยพบว่าทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการของประเทศไทยยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานระดับปฏิบัติการและช่างเทคนิค ในขณะที่อีกหลากหลายสาขาก็ยังเผชิญปัญหาแรงงานล้นตลาด ประกอบกับการแข่งขันในภาคธุรกิจที่สูงขึ้น ทั้งการแข่งขันภายในประเทศและการแข่งขันจากต่างประเทศ ก็ยังเป็นปัจจัยที่กำหนดให้แรงงานที่เข้าสู่ตลาดในอนาคตจำเป็นต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสูง สามารถตอบโจทย์ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทการแข่งขันในภาคธุรกิจที่สูงขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินลงทุน รวมถึงแรงงานฝีมือ จะเป็นไปโดยเสรีมากขึ้นนั้น ยิ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบการศึกษาให้ทัดเทียมกับประเทศในอาเซียนที่มีระดับการพัฒนาระบบการศึกษาก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทย เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบการศึกษาจำเป็นต้องพิจารณา เพื่อผลิตบุคลากรที่จะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยรองรับทั้งโอกาสและความท้าทายจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
------------------------------------------
Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น