ไม่ทำตอนนี้จะมี ‘บิลลี่’ อีกไม่ถ้วน ‘ศรีศักร’ เสนอกะเหรี่ยงรวมพลังจัดการตนเอง
“เขาจะอยู่ได้หรือไม่ ‘มนุษย์นะคุณ!’ อยู่กันมาเป็นร้อย ๆ ปี แล้วคุณมาเปลี่ยนคนจากที่สูงมาอยู่ที่ต่ำ ถือเป็นความผิดมหาศาล แต่ไม่เคยสำนึกตั้งแต่มีการพัฒนามา”
วันที่ 11 พฤษภาคม 2557 กลุ่มดินสอสี พร้อมภาคีเครือข่าย จัดงาน ‘เราทุกคนคือบิลลี่:WE ALL BILLY’ เพื่อกระตุ้นเตือนให้สังคมใส่ใจในกรณีคนถูกบังคับหรือทำให้สูญหาย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปาฐกถานำ ‘ชุมชนกะเหรี่ยงกับป่าและสังคมไทย’
รศ.ศรีศักร เริ่มต้นเล่าว่า ประเทศลาวแบ่งประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูง ซึ่งพวกผมเคยนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงจากเชียงของไปหลวงพระบาง ตลอดสองฟากฝั่งจะเห็นหย่อมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นการทำไร่หมุนเวียนของคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยบนพื้นที่สูง คนลาวเรียกกันว่า ‘ลาวเทิง’
ส่วนชาวม้ง เย้า ได้ย้ายเข้ามาอาศัยในภายหลัง จึงถูกเรียกว่า ‘ลาวสูง’ เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุด ซึ่งรัฐลาวต่างก็ทราบสิ่งเหล่านี้ดี แต่ก็ไม่เคยทำร้ายประชาชน เพราะมองว่าเป็นคนลาวเหมือนกัน
เเล้ว 'กะเหรี่ยง' ในไทยคือใครนั้น ก็เปรียบได้กับ 'ลาวเทิง' นั่นเอง
“รัฐไทยคิดว่ากะเหรี่ยงเป็นกะเหรี่ยง ไม่ใช่คนไทย แม้กระทั่งคนมุสลิมทางภาคใต้ก็ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนมลายู” นักวิชาการอาวุโส กล่าว และว่า ดังนั้นไทยจึงเป็นรัฐที่ไม่เคยเข้าใจเลย หากใครเรียกร้องก็กล่าวหาว่าเป็นชาตินิยม
สำหรับประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในไทยนั้น รศ.ศรีศักร อธิบายว่า เริ่มย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และมีความหมายมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีหลายชนเผ่า หลายกลุ่ม ทั้งนี้ แต่เดิมอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำสาละวินตอนบน กระทั่งถูกบีบจากพม่าเข้ามาในไทย
ครั้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กู้บ้านกู้เมือง ซึ่งขณะนั้นคนไทในกรุงศรีอยุธยาแตกไปหมดแล้ว ทำให้ในการต่อสู้ต้องรวบรวมผู้คนหลายชาติพันธุ์มาเป็นทหาร ทั้ง จีน มอญ ญวน อิสลาม โดยเฉพาะ ‘กะเหรี่ยง’ มีส่วนในการต่อสู้เพื่อให้เรามีอิสระได้
“ในสงครามรากหญ้ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับมอญมีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่ชำนาญในเรื่องป่า สู้แบบกองโจร จนเราสู้รบกับพม่าที่มีกองทัพมหาศาลได้หมด” นักวิชาการ กล่าว และว่ารัชกาลที่ 1 จึงปูนบำเหน็จให้มอญเป็นเจ้าเมือง กะเหรี่ยงเป็นเจ้าเมือง และสืบทอดเชื้อสายมาตลอด จึงถือว่ากะเหรี่ยงอาศัยในพื้นที่มาไม่ต่ำกว่า 200 ปี
รศ.ศรีศักร กล่าวต่อว่า สำหรับการทำ ‘ไร่หมุนเวียน’ ของกะเหรี่ยงนั้นเป็นวิถีชีวิต แต่นักวิชาการสมัยใหม่ไม่เข้าใจ จึงระบุเป็น ‘ไร่เลื่อนลอย’ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ ซึ่งสมัยก่อนนั้นภาครัฐจะไม่ขับไล่กะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ แต่ภายหลังเมื่อมีการพัฒนาจึงพยายามขับไล่กะเหรี่ยงที่อยู่ในนิเวศเดิมออกไป
“เขาจะอยู่ได้หรือไม่ ‘มนุษย์นะคุณ!’ อยู่กันมาเป็นร้อย ๆ ปี แล้วคุณมาเปลี่ยนคนจากที่สูงมาอยู่ที่ต่ำ ถือเป็นความผิดมหาศาล แต่ไม่เคยสำนึกตั้งแต่มีการพัฒนามา”
นักวิชาการอาวุโส ยังเชื่อว่า ตั้งแต่กะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนมา ไม่เคยทำลายป่า เรื่องเหล่านี้รัฐไทยเดิมเข้าใจ จึงให้อาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม ภายใต้วัฒนธรรม แม้กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนพื้นที่ฝั่งตะวันตกและเห็นกะเหรี่ยงตั้งอาศัยอยู่เป็นชุมชน
ฉะนั้นการที่รัฐไทยเข้าไปดำเนินการเคลื่อนย้ายกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่เดิมจึงไม่ถูกต้อง ผมไม่รู้ว่าเขาทำได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหา ด้วยสาเหตุพื้นที่ฝั่งตะวันตกมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ ของป่า จนเกิดการตัดถนนหนทางขึ้นไป แต่กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มรักสงบ ไม่ค่อยต่อล้อต่อเถียง แต่คนไทยกลับไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้
ส่วนจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไรนั้น รศ.ศรีศักร ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้กรณี ‘บิลลี่’ เป็นการอุ้มฆ่าแน่นอน และไม่ใช่ปรากฏการณ์กลุ่มกะเหรี่ยงอย่างเดียว จึงถามกลับแล้วรัฐไทยเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ บ้านเมืองที่มีรัฐแบบรวมศูนย์อำนาจไม่มีทางจะจัดการได้ เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเคลื่อนไหวในคนรู้จักรักษาท้องถิ่น โดยบีบให้รัฐยอมกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นดูแลกันเอง
“ถึงเวลาแล้วกะเหรี่ยงทั้งหมดที่เป็นชนชาติจะต้องมีการรวมตัวและสร้างวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อพลังต่อรอง และมีอำนาจจัดการพื้นที่ตนเอง โดยที่รัฐไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง ซึ่งควรจะทำตั้งแต่ตอนนี้ ช่วงที่จะเกิดการปฏิรูปขึ้น”
ท้ายที่สุด อยากให้นำกรณีบิลลี่สูญหายนำไปสู่การเร่งเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ เพื่อไม่ให้สูญเปล่า ดังนั้น จะต้องมีการรวมตัวของกะเหรี่ยงทั่วราชอาณาจักร มุ่งรักษาแผ่นดินเกิดกันเอง อย่ารีรอ เพราะทรราชย์แผ่อำนาจมากแล้ว
ถ้าท่านไม่ทำตอนนี้จะมี ‘บิลลี่’ เกิดขึ้นอีกนับไม่ถ้วน .