เครือข่าย ร.ร.เล็ก เสนอออก พ.ร.บ.โรงเรียนชุมชน ตอบโจทย์ค้านยุบรวม
สภาการศึกษาทางเลือกเปิดเวทีหาทางออกโรงเรียนเล็ก 3 นักวิชาการศึกษา วิทยากร-เอกวิทย์-พิภพ นั่งที่ปรึกษา เตรียมยื่นแผนพัฒนาคุณภาพตามแนวปฏิรูปให้ สพฐ.15 ส.ค. หนุนหลักสูตรท้องถิ่น เสนอรัฐตั้งกองทุน ร.ร.ละ 2 แสน อปท.สมทบ 10% ของงบรวม
จากการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จน สพฐ.ระงับโครงการดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้คัดค้านจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์ เรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ การจัดการที่เหมาะสม
นายวันชัย พุทธทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกภาคใต้ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ล่าสุดวันที่ 24 ก.ค.54 ณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายการศึกษาทางเลือก (สกล.) จัด “เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก” และจะนำข้อสรุปจากเวทีไปยื่นต่อ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ สพฐ.ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้
นายวันชัย กล่าวอีกว่าหลังจากที่ สพฐ. ทิ้งโจทย์ให้ฟื้นฟูโรงเรียน ทางเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็กได้จัดเวทีประชุมระดับภาค เพื่อร่างแผนพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในแต่ละภาค และนำเสนอในการประชุม เพื่อสรุปออกมาเป็นแผนร่วมกัน
“การประชุมเพื่อให้เครือข่ายนำเสนอแผนในแต่ละภาคว่าเกิดปัญหาอะไร และจะช่วยกันปรับอย่างไร โดยมีนักวิชาการ ได้แก่ รศ.วิทยากร เชียงกูล ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง และนายพิภพ ธงไชย เป็นที่ปรึกษา ซึ่งให้ข้อแนะนำว่า จะต้องเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งการร่างหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเตรียมนำไปยื่นต่อเลขา สพฐ.” นายวันชัยกล่าว
รองเลขาฯ สกล. ภาคใต้ ยังกล่าวถึงรายละเอียดของแผนฯว่า เป็นการส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนของชุมชน ให้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนชุมชน พร้อมปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ เช่น ทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล และให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาไม่น้อยกว่าโรงเรียนละ 200,000 บาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายให้กับโรงเรียนชุมชน เพื่อให้โรงเรียนเล็ดสามารถจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งตนยังไม่มั่นใจว่าสพฐ. จะรับแผนนี้หรือไม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้กับชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
"จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชนพบว่า รัฐยังไม่เชื่อว่าชุมชนสามารถจัดการศึกษาได้ และไม่เคยยอมรับว่าตนเองจัดการศึกษาล้มเหลว ไม่ยอมกระจายอำนาจ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก็เปิดให้ชุมชนสามารถเข้ามาจัดการศึกษาได้ เมื่อไม่มีความสามารถที่จะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพได้ ก็ต้องคืนให้ชุมชนโดยเร็ว ก่อนจะเลวร้ายไปกว่านี้" นายวันชัยกล่าว
……………………………………………
(ล้อมกรอบ)
สรุปแผนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่
วิสัยทัศน์
นักเรียนดี มีความรู้ ครูมีจิตวิญญาณ ชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมบริหารจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชนที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
พันธกิจ
• พัฒนาให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนชุมชน
• แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมชน
• สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมบริหารจัดการศึกษาของชุมชน
• สร้างและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง
• สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
• พัฒนาคุณภาพครูและผู้บริหารให้เป็นครูมืออาชีพของโรงเรียนชุมชน
• ปรับปรุงระบบบริหารจัดการและระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อการจัดการศึกษาให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง
• จัดให้มีหลักสูตรสถานศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
• สร้างเครือข่ายโรงเรียนชุมชนที่เข้มแข็ง
แผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี (2555-2559)
• ส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนของชุมชนที่สามารถจัดการศึกษาได้ทั้งสามรูปแบบ คือ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย
• สนับสนุนให้ชุมชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำประกันคุณภาพ และพัฒนาแผนการจัดการศึกษา หลักสูตร แผนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
• ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้บริหาร ครู ครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้นำหลักสูตรสู่การจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ
• ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนชุมชนและให้มีการจัดสรรเพื่อการพัฒนาตามสภาพจริง ไม่น้อยกว่าโรงเรียนละ 200,000 บาท
• ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล จัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายให้กับโรงเรียนชุมชน
• ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกฎระเบียบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ให้กับการจัดการศึกษาของท้องถิ่นและการพัฒนาโรงเรียนชุมชน
• ให้ภาคเอกชน ชุมชน สถาบันศาสนา ครอบครัว ศิษย์เก่า องค์กรอิสระ มีการระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการศึกษา
• ให้มีระบบประกันคุณภาพภายในและภายนอก ดำเนินการโดยการวิจัยสถาบันของโรงเรียนชุมชนซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สอดคล้องกับปรัชญา เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนชุมชน
• ปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ ด้านบริหารบุคคล ด้านวิชาการ ด้านบริหารทั่วไป และด้านการเงินและงบประมาณของโรงเรียนชุมชน เพื่อให้โรงเรียนชุมชนเป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์และสามารถจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
• จัดทำพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนในฐานชุมชนท้องถิ่น
• จัดตั้งสมาคมเครือข่ายโรงเรียนชุมชนแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนชุมชนและขยายผลสำเร็จของการพัฒนาไปยังโรงเรียนอื่นๆต่อไป
แผนการดำเนินงาน ระยะ 5 ปี (2555-2559)
• การส่งเสริมให้เกิดการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนชุมชน .