อนาคตพูดคุยสันติภาพ (1) เจรจาแบบไหนที่เป็นสไตล์ "ถวิล เปลี่ยนศรี"
ปัญหาการเมืองภายในทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็นหยุดชะงักไป และกลายเป็นหัวข้อถกเถียงอันใหม่ว่าการพูดคุยสันติภาพที่ว่านั้นยังคงดำเนินอยู่ เพียงแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม หรือว่าเลิกล้มไปแล้ว
ระยะหลังสุ้มเสียงที่ให้น้ำหนักไปในทางกระบวนการพูดคุยสันติภาพเวที "ภราดร พัฒนถาบุตร" กับ "ฮัสซัน ตอยิบ" ซึ่งมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ชักจะดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าน่าจะล่มมากกว่าลุย
เพราะ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย ที่เคยมีตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พ่วงท้าย ก็ถูกย้ายอันสืบเนื่องจากคำสั่งศาลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำแล้ว เปิดทางให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ถูกเด้งจากเก้าอี้เลขาธิการ สมช.ไปตั้งแต่ปลายปี 2554 กลับมาทวงตำแหน่งคืน
เป็นนายถวิลคนเดียวกับที่ให้สัมภาษณ์วิจารณ์และตำหนิติติงกระบวนการพูดคุยสันติภาพเวที "ภราดร-ฮัสซัน" มาตลอด
เมื่อ นายถวิล หวนกลับมานั่งเป็นเลขาธิการ สมช. ในขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยผู้ริเริ่มกระบวนการพูดคุยเมื่อ 28 ก.พ.2556 ก็อยู่ในอาการร่อแร่ไร้อนาคต ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่านายถวิลจะไม่สานต่อกระบวนการพูดคุยใช่หรือไม่
ผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนจากภาคประชาสังคมบางรายถึงขนาดกล่าวโจมตีนายถวิลด้วยซ้ำ...
ก่อนเดินทางลงพื้นที่พบปะหารือกับ พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.เพียงไม่กี่วัน ซึ่งถือเป็นการทำงานชิ้นแรกๆ หลังเขาหวนคืนสู่ตำแหน่ง นายถวิลได้เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงแนวคิดของเขาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และการปรับขบวนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม
"เรื่องพูดคุยสันติภาพ ต้องขอทำความเข้าใจกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ว่าผมไม่ได้ขัดขวาง ผมเป็นสายพิราบอยู่แล้ว (เน้นสันติวิธี) ไม่ขัดข้องเรื่องการพูดคุย แต่การยกระดับขึ้นมาพูดคุยแบบที่ผ่านมา 1 ปีเศษนั้น เป็นการไปตอบโจทย์บีอาร์เอ็น แต่ไม่ตอบโจทย์พี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"
เป็นการออกตัวในเบื้องแรกของนายถวิล ก่อนจะอธิบายต่อ
"กระบวนการพูดคุยที่ผ่านมา เป็นกระบวนการของคุณภราดร คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการพูดคุย) และบีอาร์เอ็น ส่วนคนในพื้นที่นั่งดู แต่หลักการจริงๆ คือเราต้องคุยกับคนสามจังหวัด คุยกับคนที่เป็นตัวแทนของปัญหาและตัวแทนของคนในพื้นที่จริงๆ เพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่ให้ได้ ไม่ใช่แก้ความอยากของคนที่มาคุย"
ในฐานะที่ทำงานด้านความมั่นคงมาตลอดชีวิต เขาวิเคราะห์ว่า จุดอ่อนของกระบวนการพูดคุยเวที "ภราดร-ฮัสซัน" คือ ทำโดยไม่มีแผน ทำแบบไม่มีใครรู้ บีอาร์เอ็นเสนออะไรมาก็ไม่มีใครรู้ คนที่ไปร่วมพูดคุยก็จะปิดเป็นความลับ เวลาต้องการทราบข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ต้องไปหาข่าวจากคนของบีอาร์เอ็น แทนที่จะได้รับข้อมูลจากฝ่ายรัฐบาลที่ไปพูดคุย
"สภาพการณ์ที่ผ่านมาคือ ไปแล้วกลับมาก็ไม่บอกอะไรใคร พอครบเดือนก็ไปใหม่ เราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้" เลขาธิการ สมช.ย้ำ
นายถวิล แจกแจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาว่า ต้องคุยกับฝ่ายเดียวกันให้ตกผลึกเสียก่อน ทั้ง สมช. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) หน่วยงานทั้งหมดนี้ต้องเป็นทีมเดียวกัน คุยกันให้ตกผลึก ปรับข้อมูลและทัศนะต่างๆ เข้าหากัน จากนั้นจึงค่อยเริ่มไปคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง
ระหว่างการพูดคุย บางเรื่องยังบอกต่อสาธารณะไม่ได้ ก็คุยโต๊ะเล็กไปก่อน แต่ถ้ามีอะไรที่สำเร็จแล้ว แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไปที่โต๊ะใหญ่ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุยและแสวงหาความร่วมมือ
"ทั้งหมดนี้ก็ต้องเริ่มที่ตัวผม เริ่มที่ฝ่ายประจำ ก็ต้องคุยกับ ศอ.บต. ทหาร ตำรวจ ผมต้องไปพบแม่ทัพภาคที่ 4 (ลงพื้นที่แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค.) ในภาวะที่ฝ่ายการเมืองไม่มีเวลา ฝ่ายประจำก็ต้องขยับก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการผลักดันโดยขาดเจตจำนงทางการเมือง (political will) ย่อมไม่มีทางสำเร็จ ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้องมีฝ่ายการเมืองด้วย ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องขอให้ฝ่ายประจำได้ทำงานอย่างมืออาชีพ อย่าชี้นำ กำกับ ควบคุมวิถี"
ส่วนเรื่องการปรับนโยบายดับไฟใต้ที่มีข่าวว่าจะเข้าไปปรับไปรื้อ มีสื่อบางฉบับนำไปเขียนในแง่ลบนั้น นายถวิล กล่าวว่า "ไม่ใช่ผมจะไปปรับ แต่นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบาย 3 ปี ช่วงนี้ครบวงรอบพอดี (ฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นฉบับปี 2555-2557) ก็ต้องทบทวน แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะกระทบกับการพูดคุยหรือการแก้ไขปัญหา เพราะนโยบายเขียนไว้ดีหมด ครอบคลุมสภาพปัญหาทุกอย่าง"
"สถานการณ์ที่ผ่านมาชี้ชัดแล้วว่าปัจจัยที่เป็นปัญหาคือฝ่ายเราเอง ส่วนความแตกต่างของคนกลุ่มหนึ่งไม่ใช่ปัญหา สาเหตุของปัญหาคือการบริหารจัดการ นโยบายเขียนไว้ดีแล้ว โจทย์คือจะแปรสู่การปฏิบัติได้อย่างไร"
นายถวิล กล่าวอีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ "กระแสโลก" ต้องไม่ละเลยกระแสต่อต้านตะวันตกที่ขยายตัวไปทั่ว ทำให้บ้านเราเป็นเป้าหมายในแง่ของการถูกมองว่าเดินตามมหาอำนาจใหญ่อย่างอเมริกา
"เราผิดพลาดมาตลอดเรื่องการจัดการความแตกต่างหลากหลาย จนกลายเป็นการบ่มเพาะปัญหา ฉะนั้นเราต้องเดินงานด้านต่างประเทศให้ครอบคลุมทั้งตะวันออกกลาง มหาอำนาจ โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ต้องวางระบบให้ดี ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะกลายเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของคู่ขัดแย้งในระดับโลก"
"สิ่งสำคัญคงต้องไปเน้นเรื่องที่เราไม่เคยทำสำเร็จ คือ เอกภาพในการบริหารจัดการ ให้ทุกหน่วยทำงานร่วมกันให้ได้ แม้จะเป็นงานยาก เพราะ สมช.สั่งหน่วยอื่นไม่ได้ แต่ก็ต้องพยายาม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะภาคใต้ ความไม่เป็นเอกภาพเกิดกับทุกปัญหา แต่เมื่อเป็นปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พอพลาดแล้วเจ๊งเลย"
"ผมต้องคุยกับแม่ทัพภาคที่ 4 กอ.รมน. และต้องทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองด้วย ผมหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่การเมืองที่เป็นมืออาชีพ อายุราชการผมจะทันหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา แต่หวังว่าจะได้การเมืองมืออาชีพทำงานกับข้าราชการมืออาชีพ และแก้ปัญหาได้ลุล่วงในที่สุด" นายถวิลกล่าวทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายถวิล เปลี่ยนศรี ขณะเดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อหารือกับแม่ทัพภาคที่ 4
ภาพโดย : อะหมัด รามันห์สิริวงศ์