"นักรัฐศาสตร์" หวั่นวิกฤติการเมืองรุนแรง ไร้ศูนย์กลางรักษาระเบียบ
"ประจักษ์ ก้องกีรติ-ไชยันต์ รัชชกูล" หวั่นความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง ชี้ สังคมไทยต้องศึกษาปวศ.ให้มาก เรียนรู้บทเรียนจากอดีต ทำความเข้าใจรากเหง้าปัญหา ไม่ใช่แค่ติดตามสถานการณ์วันต่อวัน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ ว่า ประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่กล่าวได้ว่าอาจอันตรายและซับซ้อนกว่าในอดีตที่เคยเป็นมาและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือ 14 ตุลา 2516 ก็เป็นได้หากไม่มีการประคับประคองที่ดี
นักวิชาการรายนี้กล่าวว่า “ช่วงที่อันตรายที่สุดคือช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง เกิดสภาวะที่ระเบียบทางการเมืองโดนทำลายไป เพราะถ้าเทียบกับช่วงที่มีประชาธิปไตยแบบรัฐสภาถึงแม้จะมีปัญหาขลุกขลักบ้าง แต่ว่า เศรษฐกิจยังไม่เสียหายย่อยยับ คนไม่ต้องมาบาดเจ็บล้มตายบนท้องถนน แต่เมื่อกติกาถูกทำลายลงสถานการณ์แบบนี้ น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้มันไม่มีศูนย์กลางที่จะรักษาระเบียบเอาไว้”
นักวิชาการรายนี้ระบุด้วยว่า เมื่อใดที่เราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ คนจะติดกับดักการมองเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเป็นขาว-ดำ หมายถึงว่าประชาชนรู้สึกร่วมไปกับข้อมูลข่าวสารที่ล้นมากในทุกวันนี้ แต่ไม่ได้มองให้ลึกลงไปในอดีตว่าตัวละครทางการเมืองไทย ตอนนี้เขามีความขัดแย้งกันมาตั้งนานแล้ว ทุกคนมีผลประโยชน์และอำนาจเป็นเดิมพัน
อาจารย์ประจักษ์กล่าวว่าถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว อย่างน้อยที่สุด มีอยู่ สองจุด ที่ควรคำนึงถึงคือหนึ่ง
"คือ หนึ่ง ชนชั้นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู้ระบบประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันก็ต้องมองย้อนไป 14 ตุลา 2516 ที่ควรเก็บมาเป็นข้อเตือนใจให้กับสังคมในตอนนี้ อย่างน้อยที่สุดแล้ว คนไทยควรศึกษาอย่างน้อยสองเหตุการณ์นี้ จะทำให้เห็นรากเหง้าของความขัดแย้งต่างๆ"
นักวิชาการรายนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แต่ตอนนี้การศึกษาประวัติศาสตร์ก็เหมือนยากล่อมประสาทที่ปลูกฝังให้เราเชื่อ แทนที่จะให้เราคิด”
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า “ตอนนี้สังคมไทยไม่ได้มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แต่มองแค่สถานการณ์วันต่อวัน อาจอ่านหนังสือพิมพ์มากไป แทนที่จะอ่านตำราประวัติศาสตร์แล้วมาคิดกันเรื่องความเป็นมาของประวัติศาสตร์”
นักวิชาการรายนี้กล่าวถึงความกังวลที่สืบเนื่องมาภายหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2553 ด้วยว่า ที่ผ่านมามีการพูดคำว่าปรองดอง แต่ทุกวันนี้ไม่เอ่ยคำนี้ไม่มีกันแล้ว
"เมื่อก่อนคำว่านิติรัฐ นิติธรรม ยังมีอยู่แต่ตอนนี้ได้ยินน้อยมาก ได้ยินแต่ระบบทักษิณ ได้ยินเสียงก้องของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะทำลายล้างประชาธิปไตย ซึ่งมันอันตรายมากและสังคมไทยต้องจ่ายอย่างแพง กว่าจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ไม่ใช่แค่ในแง่ชีวิตคน แต่เป็นในทุกๆด้านของสังคมไทย ทั้งการเคารพ เชื่อถือและความรู้สึกที่ดีต่อกัน เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว แต่มันเป็นความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดทุกย่อมหญ้า คนที่จะให้ความรู้ ประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตนั้น ในตอนนี้มันไม่มีอีกแล้ว” นักวิชาการรายนี้ ระบุ
รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวด้วยว่าส่วนตัวแล้วเคยคิดว่าการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ควรต้องย้อนกลับไปศึกษาในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475
“แต่แค่นั้นยังไม่พอ เรายังต้องทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงมาเป็นประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2535 ด้วย แต่ตอนนี้ผมคิดว่าต้องย้อนไปไกลกว่านั้น ไกลถึงการสร้างรัฐไทย เพราะการสร้างรัฐไทย เป็นการสร้างแบบอาณานิคม หมายถึงประเทศไทยมีการปกครองแบบอาณานิคมได้สร้างการปกครองในเขตต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นอาณานิคมในแบบตะวันตกในตรงนี้มีคนที่ศึกษาหรือเข้าใจน้อยมาก”
นักวิชาการรายนี้ ระบุว่าการศึกษาโครงสร้างประวัติศาสตร์รัฐไทยในช่วง 100 กว่าปีก่อน ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินไป เพราะมีหลายแง่หลายมุมที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของการขยายอำนาจของกรุงเทพ เรื่องอำนาจของส่วนกลาง เรื่องการธำรงรักษาไว้ซึ่งจารีตประเพณี การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ในภาคต่างๆ ของประเทศและการเปลี่ยนแปลงด้านความคิด
นักวิชาการรายนี้ระบุว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ การศึกษาย้อนกลับไปในช่วง 100 ปีนั้น ถือว่าไม่ไกลเกินไป
“หรือเราอยากสายตาสั้นมองตามแค่ข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่นั่นมันแค่วันต่อวัน เป็นการมองแบบวันต่อวัน ซึ่งมันมีความหมายน้อย วันต่อวันมันเข้าใจความหมายไม่ได้ การวิเคราะห์ก็เป็นการวิเคราะห์แค่วันต่อวัน จริงๆแล้วการวิเคราะห์ก็เป็นการคาดเดา เหมือนกับการเล่นหมากรุกเฉพาะหน้าว่าจะเดินอะไร แทนที่จะมองทั้งกระดาน” นักวิชาการรายนี้ระบุ
ภาพประกอบจาก : นิตยสารWriter และ www.prachatai.com