เมื่อ "บิ๊ก"ตุลาการศาล ปค.คลุกคลีตีโมงกับคู่ความ
"...เพราะการไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "คู่กรณี" อาจกระทบต่อการวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่กำหนดไว้ในระเบียบวินัยของตุลาการ โดยเฉพาะคู่กรณีอีกฝ่ายอาจร้องเรียนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะฝ่ายตรงข้ามสามารถ "เข้าถึง" ผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมและมีการถ่ายภาพเผยแพร่อย่างเอิกเกริกผานสื่อมวลชนซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาคดีได้..."
เคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า หลังจากจัดตั้งศาลปกครองมานานกว่าทศวรรษ มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่ได้รับการแก้ไขจากผู้บริหารศาล เหมือนการ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" สร้างความไม่พอใจให้แก่ตุลาการและข้าราชการศาลปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดส่งเอกสารหลักฐานร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และสื่อมวลชนหลายเรื่อง
จนกระทั่ง"จดหมายน้อย"ของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่ส่งไปถึงพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร. )และพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เพื่อสนับสนุนพ.ต.ท.ชูธเรศ ยิ่งยงดำรงกุล รองผกก.ป. สน.หัวหมาก เป็นผู้กำกับการ (ผกก.) โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพื่อนสนิทหลายชายนายหัสวุฒิ และช่วยงานประธานศาลปกครองสูงสุดในหลายโอกาส ถูกเปิดโปงขึ้น
ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐจึงขาดผึง!!!
มีการล่ารายชื่อตุลาการศาลปกครองชั้นต้น จากศาลทั่วประเทศ ให้ลงชื่อในหนังสือถึงคณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) จำนวน 77 คนเรียกร้องให้ ก.ศป.นัดประชุมเป็นการด่วน เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการขึ้นมา สอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ว่า มีส่วนรู้เห็นและเห็นชอบในการกระทำของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ในการทำ "จดหมายน้อย" 2 ฉบับเพื่อสนับสนุนพ.ต.ท.ชูธเรศเป็น. ผกก.จริงหรือไม่
โดย ในหนังสือถึง กรรมการข้าราชการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ระบุว่า
"ด้วยปรากฎข่าวจากสื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับกรณีที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีหนังสือจำนวน 2 ฉบับ ไปถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งเลื่อนยศนายตำรวจนายหนึ่งเป็นผู้กำกับ โดยแจ้งว่า เป็นความประสงค์ของประธานศาลปกครองสูงสุด และต่อมาเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยอมรับว่ามีหนังสือสองฉบับถึงบุคคลดังกล่าวจริง โดยก่อนดำเนินการได้เรียนให้ประธานศาลปกครองสูงสุดรับทราบแล้วด้วย อีกทั้งในหนังสือยังระบุพาดพิงว่านายตำรวจผู้นั้นเป็นเพื่อนสนิทกับหลานชายของประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจากข่าวดังกล่าวก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ของคนในสังคมอย่างกว้างขวางทำให้เกิดความเสียหายกับตุลาการศาลปกครองและสถาบันศาลปกครองโดยรวม ดังนั้น จึงสมควรทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัดเจนขึ้นโดยนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ศป.ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้และควรเป็นวาระพิเศษเร่งด่วน"
"ตุลาการที่ลงชื่อท้ายบันทึกนี้ จึงให้ ก.ศป. ทุกท่านได้โปรดกรุณานำเรื่องนี้มาพิจารณาโดยด่วน เพื่อมิให้ศาลปกครองเกิดความเสื่อมเสียและเสียหายไปมากกว่านี้"
ขณะที่กรณี "จดหมายน้อย" ได้ส่งผลกระเทือนต่อเก้าอี้ประธานศาลปกครองสูงสุดของนายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ยังไม่รู้ว่า จะจบลงอย่างไร มีผู้อ้างตัวว่า กระทำในนามตุลาการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ ราชเลขาธิการ ประธานองคมนตรี ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯกล่าวหาและให้สอบสวนพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครองหลายเรื่อง เช่น การไม่ยอมใช้รถประจำตำแหน่ง แต่ใช้รถโฟล์คตู้ส่วนกลางเพื่อเบียดบังไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมัน การอ้างการไปราชการต่างจังหวัดเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงและค่าเดินทางโดยเครื่องบิน แต่กลับไป "ยกยอดฉัตร" ณ วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นกิจธุระส่วนตัว ฯลฯ
แต่ที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคือ ผู้บริหารระดับสูงในศาลปกครอง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ"คู่กรณี" หรือ"คู่ความ"ในศาลปกครองเชียงใหม่ในคดีที่ชาวบ้านในจังหวัดในจังหวัดลำปางได้รวมตัวกันยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง ให้ยุติการก่อสร้างโครงการกำจัดขยะแบบครบวงจรมูลค่า 695 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท วีพีเอ็นคอนเล็คชั่น จำกัดในระยะเวลาตั้งแต่12ก.ย. 2552 - 10 ก.ย. 2556 เป็นเวลา 1,460 วัน เมื่อประมาณปี 2552 ซึ่งต่อมา บริษัท วีพีเอ็นคอนเล็คชั่น จำกัด ได้ขอเข้ามาในคดีในฐานะ ผู้ร้องสอด ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดี
บริษัท วีเอ็นพี คอนเล็คชั่น มีนางวรรณี ลิทองกุล หรือที่เรียกกันว่า "แม่เลี้ยงวรรณี" เป็นกรรมการผู้จัดการ
ในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลปกครองเชียงใหม่และศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งใช้มาตรการชั่วคราวสั่งให้ อบจ.ลำปางยุติการก่อสร้าง จนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้นหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ในฐานะคนทำธุรกิจโดยเฉพาะกับหน่วยงานของรัฐ เป็นธรรมดาที่ "แม่เลี้ยง" ต้องพยายามผูกสัมพันธ์กับบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น
ดังนั้น เมื่อสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตจะพบ ภาพแม่เลี้ยงจัดเลี้ยงแสดงความยินดี เข้าพบ มอบของขวัญ รดน้ำดำหัว หรือผูกสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับผู้พิพากษา ตุลาการและอัยการปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่
การผูกสัมพันธ์ดังกล่าวอาจไม่ใช่ผิดปกติสำหรับกรณีทั่วไป ถ้าไม่เกินเลย หรือมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคนในกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตามถ้านักธุรกิจรายดังกล่าว เป็น "คู่กรณี"หรือ "คู่ความ"ในคดี ผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ต้องพึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการวางตัว
เพราะการไปผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ "คู่กรณี" อาจกระทบต่อการวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่กำหนดไว้ในระเบียบวินัยของตุลาการ โดยเฉพาะคู่กรณีอีกฝ่ายอาจร้องเรียนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะฝ่ายตรงข้ามสามารถ "เข้าถึง" ผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมและมีการถ่ายภาพเผยแพร่อย่างเอิกเกริกผานสื่อมวลชนซึ่งอาจมีผลต่อการพิจารณาคดีได้
ยิ่งถ้าคดีนั้น ฝ่ายที่ผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ว่า การตัดสินจะเป็นไปโดยชอบหรือไม่ก็ตาม ย่อมถูกหยิงยกมาเป็นข้ออ้างว่าของอีกฝ่ายว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ในหนังสือร้องเรียนของผู้ที่อ้างตัวว่า เป็นตุลาการและข้าราชการศาลปกครองได้ส่งพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายในการผูกสัมพันธ์ของ "แม่เลี้ยง"กับผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครองในวาระโอกาสต่างๆ และเมื่อตรวจสอบก็พบว่า เป็นข้อเท็จจริงที่รับรู้กันในศาลปกครอง
นอกจากนั้นจากการตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ตยังพบว่า "แม่เลี้ยง" ได้พยายามผูกสัมพันธ์กับผู้บริหารศาลปกครองในหลายโอกาสซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับศาลปกครองเชียงใหม่ยกฟ้องคดีที่ชาวบ้านลำปางยื่นฟ้อง อบจ.ลำปางในโครงการระบบกำจัดขยะครบวงจรราวกลางปี 2556(คดีแดง404-5/2556)
(ชมภาพ)
นางวรรณี บริจาคต้นพระเจ้าห้าองค์ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ว่ากันว่า มูลค่าหลายแสนบาทล้อมมาปลูกที่สำนักงานศาลปกครอง ณ ถนนแจ้งวัฒนะ มีการถ่ายรูปร่วมกันกับผู้บริหารศาล
เชิญผู้บริหารศาลปกครองไปร่วมงานกฐินที่เชียงใหม่
มีการจัดเลี้ยงที่บ้านสวนริมลำพูด ผู้บริหารศาลถ่ายรูปคู่และร้องคาราโอเกะกับเจ้าบ้าน
ผู้บริหารศาลปกครองมอบของขวัญปีใหม่ให้ "แม่เลี้ยง" หลังการจัดเลี้ยง
นอกจากรูปเหล่านี้แล้ว ยังมีรูป "แม่เลี้ยง" เข้าอวยพรวันเกิด รดน้ำดำหัว และจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆให้แก่ผู้บริหารศาลปกครองเชียงใหม่อยู่ในหนังสือท้องถิ่นอีกหลายรูป
ภาพเหล่านี้ อาจมิใช่หลักฐานที่บ่งบอกว่า การพิจารณาคดีในศาลปกครอง มิได้เป็นไปโดยไม่เที่ยงธรรม แต่อาจทำให้ประชาชนทั่วไป และคู่กรณีอีกฝ่ายไม่เชื่อถือศรัทธาหรือไม่ไว้วางใจในคำพิพากษาของศาลปกครองได้