"กกต."โดนด้วย "สตง."ร่อนหนังสือจี้รับผิดร่วม"รบ.ปู"จัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.
“กกต.” โดนด้วย ! “สตง.” ร่อนหนังสือแจ้งให้รับผิดชอบความเสียหายเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ร่วมกับ “ยิ่งลักษณ์”ระบุกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นหน้าที่ของ “นายกฯ – ปธ.กกต.”
จากกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี ให้รับทราบเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการใช้ดุลยพินิจของรัฐบาลโดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ในการเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 2557 และก่อให้เกิดความเสียหายย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(อ่านประกอบ: "สตง." จี้ "ยิ่งลักษณ์" รับผิดชอบความเสียหาย จัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.เหลว! )
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า นอกเหนือจากการทำหนังสือแจ้งไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวแล้ว สตง.ยังได้ทำหนังสือแจ้งไปถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 เช่นกัน
โดยเนื้อหาในหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุข้อความและเหตุผลที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาของ สตง. เช่นเดียวกับที่ระบุในหนังสือที่แจ้งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ทุกประการ
อาทิ สตง.ระบุว่า ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกฯ เพื่อโปรดพิจารณาให้รัฐบาลเสนอพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งใหม่ กกต.ก็ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไป ก่อนที่ กกต.จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า สามารถกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ได้หรือไม่ และเป็นอำนาจของนายกฯ หรือ กกต. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สามารถกระทำได้โดยเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของนายกฯ และประธาน กกต.
แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่า ไม่มีการเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไป และมีการดำเนินการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในภายหลังว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ครบทุกเขตในวันเดียวกัน
"สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการในกรณีดังกล่าวเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลและก่อให้เกิดความเสียหายย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป"
นอกจากนี้ สตง. ยังระบุด้วยว่า "ดังนั้น การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งต่อไป รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องกำหนดมาตรการ หรือวิธีการปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า การเลือกตั้งจะบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ ดังเช่นที่ผ่านมา จนส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"