สกว.จับมือ อบจ.-มหา’ลัยท้องถิ่น หนุนวิจัยชุมชน สร้างรูปธรรมแก้อีสานแล้ง
สกว.ร่วมกับ อบจ.-ม.อุบลฯ-ม.ราชภัฎอุบลฯ ลงนามความร่วมมือแก้ปัญหาการจัดการน้ำท้องถิ่น ผ่านงานวิจัยโดยชาวบ้าน เตรียมชูโมเดลชุมชนจัดการน้ำขยายเป็นต้นแบบพื้นที่อื่น
วันที่ 25 ก.ค. 54 ณ ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มีเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบการจัดการน้ำโดยชุมชนด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี(อบจ.อุบลฯ) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาระบบจัดการน้ำด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น บูรณาการองค์ความรู้ไปสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลฯ กล่าวว่าแต่ละพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ไม่เหมือนกัน จึงต้องใช้องค์ความรู้ในการจัดการน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่ง อบจ.มีงบประมาณและบุคลากรปฏิบัติงานในพื้นที่ส่วนหนึ่ง แต่คงไม่สามารถจัดการปัญหาทั้งจังหวัดได้ ต้องประสานความร่วมมือหลายๆส่วน ในลักษะศึกษาในพื้นที่จริงและวิจัยและพัฒนาไปด้วย หากพื้นที่ไหนประสบผลสำเร็จ ก็ยกเป็นโมเดลการแก้ไขปัญหาน้ำ
ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผอ.สกว. กล่าวว่า สกว.มีหน้าที่สนับสนุนการวิจัย ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยทั่วๆไป เพราะนักวิจัยเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งรู้ว่าชุมชนตนมีปัญหาอะไร และค้นหาวิธีว่าจะแก้ไขได้อย่างไร โดยมีพี่เลี้ยงลงพื้นที่พัฒนาโจทย์วิจัย ช่วยชาวบ้านคิด ค้นหาคำตอบ ผลงานที่ออกมาจะตอบโจทย์ชุมชน ซึ่งในภาคอีสานมีปัญหาเรื่องน้ำ เช่น ภัยแล้ง ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าประเทศไทยอีก 10-20 ปี ปริมาณน้ำฝนจะเพิ่มขึ้นแต่ไม่สม่ำเสมอ การจัดการน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมาก น้ำจะมีเพียงพอถ้ามีการจัดการที่ดี
ด้าน รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าเดิมมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้เรื่องการวิจัยอยู่แล้ว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะตอบโจทย์ความต้องการของนักวิชาการที่ต้องลงไป กระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดกระบวนการคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านขาด ขณะเดียวกันสิ่งที่นักวิชาการขาดคือความเข้าใจปัญหาและวัฒนธรรมของพื้นที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดการเปลี่ยนแนวคิด ทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างยั่งยืน เพราะการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการให้อำนาจแก่ชุมชนท้องถิ่น หากประสบความสำเร็จออกมาเป็นแนวทางจัดการน้ำรูปแบบต่างๆ ชาวบ้านยังประยุกต์องค์ความรู้ไปแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ด้วยตนเอง.
ที่มาภาพ : http://news.impaqmsn.com/articles_pr.aspx?id=267681&ch=pr