เครือข่ายแรงงานจี้รัฐบาลชะลอตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจี้รัฐบาล-ก.แรงงานชะลอจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เหตุให้สิทธิฝ่ายการเมืองนั่งประธานหวั่นขาดความเป็นอิสระ ‘เอ็นจีโอ’ ชี้ต้องเป็นองค์กรทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย มิใช่เฉพาะงานวิชาการ
วันที่ 10 พฤษภาคม 2557 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และภาคีเครือข่ายแรงงานพื้นที่อุตสาหกรรม จัดเวทีสมัชชาแรงงานเนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ หัวข้อ ‘ยกเลิกแร่ใยหินถึงข้อเรียกร้องสถาบันความปลอดภัยฯ’ ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) กล่าวว่า ไทยใช้แร่ใยหินมาเกือบ 70 ปี ในอุตสาหกรรมกระเบื้อง หลังคา และท่อน้ำ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แรงงานก่อสร้าง เนื่องจากขาดอุปกรณ์ป้องกันสารอันตรายจากการทำงาน ทำให้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง แต่ไม่สามารถระบุชัดถึงสถิติได้ ด้วยระบบการวินิจฉัยหาสารแร่ใยหินในร่างกายของไทยมีปัญหา ไม่มีห้องแล็ปเฉพาะ แม้จะมีคลินิกวินิจฉัยโรคจากการทำงานแล้ว 81 แห่งก็ตาม
ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยอย่างยิ่งกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO) ที่ระบุแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปอดและเยื่อหุ้มปอด ซึ่งอันตรายเหล่านี้พบมากขึ้นกรณีเลื่อย ตัด ไส จนเกิดฝุ่นละออง ทั้งนี้ โรคมะเร็งใช้เวลาฟักตัวไม่ต่ำกว่า 15 ปี ทำให้ WHO คาดการณ์ว่าอนาคตจะมีผู้ใช้แรงงานชาวยุโรปป่วยจากการทำงานนับแสนคน ภายหลังมีมาตรการยกเลิกการใช้แร่ชนิดดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ยังไม่สามารถเก็บสถิติได้ทั้งหมด
“กระทรวงสาธารณสุขไม่มีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าจะต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินหรือไม่ แต่ตอบได้เต็มเสียงว่า มีอันตราย ทั้งนี้ ต้องยอมรับความจริงว่าการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมนั้น อาจทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมต้องสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทนให้เหมาะสม ดังนั้นเบื้องต้นควรยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินก่อน”
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่เคยเสนอนโยบายให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในไทยทันที หรือให้รื้อสิ่งปลูกสร้างที่มีส่วนประกอบของแร่ชนิดดังกล่าวพร้อมกัน เพราะอาจจะทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น แต่ควรปล่อยให้หมดไปตามเวลา
ขณะที่นายพรชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการก่อตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) ว่า มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงาน มิใช่เป็นสถาบันทางวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่ขาดการเชื่อมโยงความรู้ที่มีอยู่เข้าสู่บริบทการบริหารจัดการอย่างแท้จริง
นอกจากนี้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ยังเป็นผู้เสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งหากขับเคลื่อนได้จะสร้างพลังในการโน้มน้าวใจให้คนในสังคมเกิดจิตสำนึกและเข้าใจเรื่องความปลอดภัย
“สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ขาดความเป็นอิสระ ประธานยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีสัดส่วนคณะกรรมการเป็นข้าราชการประจำมากกว่าผู้แทนนายจ้าง-ลูกจ้าง อีกทั้งยังไม่มีงบประมาณบริหารจัดการชัดเจน”
ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายฯ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ต้องมีอำนาจจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อทราบข้อมูลและกำหนดประเด็นศึกษาความปลอดภัยได้ แต่ผู้ทำหน้าที่ร่างกฎหมายที่ผ่านมาเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของสถาบัน เพราะต้องการให้เป็นเพียงหน่วยงานวิชาการเท่านั้น หากแต่ความจริงเราต้องการเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ... ไว้ก่อน ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลและกระทรวงแรงงานคงไม่ฟัง จึงต้องพยายามยับยั้งต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในเวทีสมัชชาแรงงานฯ ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยขอให้รัฐบาลดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 เมษายน 2554 งดนำเข้าและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินทันที พร้อมขอให้ชะลอการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่กระทรวงแรงงานขาดการมีส่วนร่วม และให้เปิดเวทีทบทวนเนื้อหาของร่างกม.ฉบับผู้ใช้แรงงานและเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงร่างกม.ฉบับ คปก.นอกจากนี้ขอให้พัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค รักษาเยียวยาผู้ป่วย จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และเผยแพร่พิษภัยแร่ใยหินด้วย .
ภาพประกอบ:สมบุญ สีคำดอกเเค