หัวอกครูชายแดนใต้...ไม่มีสถานที่ปลอดภัยให้พวกเราเลยหรือ?
เหตุการณ์คนร้ายยิงครูสตรี นางไพรัตน์ จิตร์เสน อายุ 50 ปี ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านดูวา อ.มายอ จ.ปัตตานี เสียชีวิตขณะลงจากรถเพื่อไปซื้อของที่ตลาดปาลัส รอยต่อ อ.ปะนาเระ กับ อ.มายอ เมื่อช่วงก่อนเที่ยงของวันพุธที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และส่งผลต่อขวัญกำลังใจของครูในพื้นที่อย่างรุนแรง!
เหตุเพราะ 1.เป็นการยิงครูผู้หญิงที่ไม่มีทางสู้อย่างโหดเหี้ยม ซึ่งครูไพรัตน์นับเป็นครูรายที่ 4 แล้วของปีนี้ที่ถูกไล่ล่าสังหาร และ 3 ใน 4 รายยังเป็นครูผู้หญิง
2.จุดเกิดเหตุเป็นบริเวณตลาด ชื่อตลาดปาลัส ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ซึ่งเป็นถนน 6 ช่องจราจรระหว่างจังหวัด (ปัตตานี-นราธิวาส) และตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่ได้รับความนิยม มีผู้คนพลุกพล่าน
3.เป็นการลอบสังหารครูในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งมีน้อยครั้งที่ครูถูกทำร้ายในขณะใช้ชีวิตประจำวัน เพราะที่ผ่านมาซึ่งเกิดความสูญเสียกับบุคลากรทางการศึกษาตลอด 10 ปีไฟใต้ จำนวน 171 ราย (ไม่รวมครูไพรัตน์) นั้น ส่วนใหญ่เหตุเกิดขณะที่ครูเดินทางไปหรือกลับจากโรงเรียน หรือไม่ก็สอนหนังสืออยู่ในโรงเรียน โดยไม่ค่อยเกิดเหตุในช่วงที่ครูใช้ชีวิตประจำวันอยู่ที่บ้านหรือตลาด
4.เหตุยิงครูไพรัตน์ เกิดขึ้นในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในปีการศึกษาใหม่ (2557) เพียงไม่ถึง 1 สัปดาห์ และฝ่ายความมั่นคงกำลังประชุมเพื่อวางมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยครู นักเรียน และโรงเรียนในช่วงเปิดเทอมพอดี ทำให้กระทบต่อมาตรการที่วางเอาไว้ และลดทอนความเชื่อมั่นของครูที่มีต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
ด้านความรู้สึกของครู...แน่นอนว่าผ่านสถานการณ์เลวร้ายมาถึง 10 ปี หลายคนอาจจะเริ่มชินชากับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตราย ทว่าการปรากฏข่าวเพื่อนร่วมอาชีพถูกสังหาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังใช้ชีวิตส่วนตัว ย่อมสร้างความหวาดผวาไม่น้อย
"ตกใจกับข่าวครูถูกยิง ตอนที่รู้ข่าวก็คิดในใจว่าอีกแล้วหรือ รู้สึกว่าหลังๆ ครูโดนบ่อยมาก ทุกครั้งที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับครู ก็จะมีการข่าวการช่วยเหลือครูอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สักพักเมื่อข่าวเงียบ ข่าวไม่เสนอ ทุกอย่างก็จะเลือนหาย และจะมาคุยกันใหม่เมื่อครูโดนอีก แต่จะไม่ไปคุยเรื่องของครูคนเก่าที่ตายไปแล้ว จะคุยแต่เรื่องของครูที่เพิ่งโดนใหม่ พอไม่มีข่าวออกก็จะเงียบอีก เป็นแบบนี้มาตลอด" ครูสตรีไทยพุทธคนหนึ่งจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา ระบายความรู้สึก
"ทุกวันนี้ครูไม่มีสถานที่ปลอดภัยแล้ว อยู่บ้านคนร้ายก็มาทำร้ายถึงในบ้าน ไปตลาดก็ไปยิงในตลาด อยู่บนถนนไม่ต้องพูดถึง ไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว ก็รู้สึกนะว่าตัวเองไม่ปลอดภัย แต่ถามว่าจะให้ทำอย่างไร จะให้เลิกเป็นครูหรือ มันก็เลิกไม่ได้ เพราะเด็กต้องการครู"
ครูไทยพุทธจากบันนังสตาซึ่งขอสงวนนามด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย บอกต่อว่า ปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้ด้วยความรู้ ต้องแก้ที่การศึกษา อยากให้เด็กๆ ทุกคนได้เรียนฟรีจริงๆ ไม่ใช่ฟรีแค่นโยบาย พอเอาเข้าจริงต้องจ่ายนั่นจ่ายนี่ ตอนรัฐบาลทำนโยบายมีแต่ความหวัง วาดมาสวยงามมาก แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
"บ้านเรามีปัญหา ทุกคนก็ไม่ปลอดภัย ไม่ต้องมามองเรื่องของฉันหรือของเธอ ทุกคนเดือดร้อนหมด ไม่ปลอดภัยหมด หลายครั้งที่นอนฝันว่าตัวเองถูกทำร้าย พอตื่นขึ้นมาก็ร้องไห้เพราะช้ำใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ถามว่าทำไมไม่หนี เราไม่หนีเพราะที่นี่คือบ้านของเรา เรารักที่นี่ เราเกิดที่นี่ก็ขอตายที่นี่ และจะไม่เสียใจถ้าต้องตายเพราะเราไปสอนนักเรียน ให้ความรู้เด็กๆ"
ครูไทยพุทธรายนี้ ยังคาดการณ์ว่า เมื่อโรงเรียนเปิดเทอม ครูต้องเดินทางไปโรงเรียน สถานการณ์น่จะตึงเครียดกว่านี้ เพราะทุกวันนี้แม้โรงเรียนปิดเทอม แต่ครูก็ต้องไปโรงเรียน ไปจัดการเรียนการสอน ทุกคนรู้และเข้าใจกับสถานการณ์ เชื่อว่าทุกคนก็ระวังตัว แต่คนที่เฝ้าจะทำร้าย คนที่เป็นเป้าหมายก็คงระวังไม่ไหว ก็ต้องสู้ต่อไปเท่าที่จะทำได้
นิธิมา ลามะ ครูสตรีมุสลิมะฮ์จากโรงเรียนบ้านกาโดะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวเช่นกันว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับครู ไม่อยากให้มีการฆ่ากันอีกเลย อยากให้หยุดกันได้แล้ว เพราะเบื่อกับสถานการณ์ และเบื่อมาตรการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากทุกวันนี้รู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเลย แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
"เราไม่มีความปลอดภัยจริงๆ ทุกก้าวที่ออกจากบ้านรู้สึกว่าถูกจับตามองจากทุกฝ่าย (หมายถึงทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ก่อเหตุรุนแรง) ทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นน้อยลง เพราะกระแสการเมืองในส่วนกลางแรงกว่า"
เมื่อถามถึง อ.รือเสาะ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงในมิติด้านความมั่นคง ครูนิธิมา บอกว่า สถานการณ์ไม่ร้ายแรงนัก เพราะส่วนใหญ่ครูที่ปฏิบัติงานในพื้นที่นี้จะเป็นคนในพื้นที่เอง และทางเขตพื้นที่การศึกษาก็มีนโยบายชัดให้ครูที่รู้สึกไม่ปลอดภัยสามารถย้ายออกจากพื้นที่ได้ จึงรู้สึกว่าความตึงเครียดไม่ค่อยมากเท่าไร และพื้นที่นี้ไม่มีครูไทยพุทธ
"แต่ความรู้สึกกลัวก็ยังมีนะ กลัวว่าจะมีการล้างแค้นกัน เพราะถ้าครูในพื้นที่มีปัญหา หรือไปขวางทางผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะตกเป็นเป้า สำหรับครูไทยพุทธในพื้นที่นี้ที่เคยสอนอยู่ในหมู่บ้าน ทางเขตก็ให้ไปสอนในโรงเรียนเขตเมือง ช่วงนี้ในพื้นที่เสี่ยงจึงไม่มีครูพุทธ เหลือแต่ครูที่เป็นคนในพื้นที่และเป็นอิสลามทั้งหมด ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุจึงน้อยลง ยิ่งครูเป็นคนในพื้นที่เอง ก็มีบ้านในพื้นที่ โรงเรียนกับบ้านก็อยู่ไม่ไกลกัน ความเสี่ยงจึงน้อย"
อย่างไรก็ดี ครูนิธิมา บอกว่า แม้อยู่ในพื้นที่จะอุ่นใจระดับหนึ่ง แต่พอมีความจำเป็นต้องเดินทางออกนอกอำเภอบ้านเกิดของตัวเองก็รู้สึกหวั่นๆ เหมือนกัน
"กลัวตอนเดินทางออกนอกพื้นที่ กลัวระดับหนึ่ง กลัวถูกลูกหลง ยิ่งตอนนี้เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น มีสร้างสถานการณ์กันเองบ้าง การเมืองก็แรง อาจมีการก่อเหตุล้างแค้นระหว่างกัน ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา สุดท้ายชาวบ้านและครูทุกคนล้วนอยู่ในความไม่ปลอดภัย"
"ฉะนั้นในกลุ่มผู้ที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายใด อยากให้นึกถึงความรู้สึกของคนอื่นๆ กลุ่มอื่น ทุกศาสนา อยากให้มองภาพรวม ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องนึกถึงครูอิสลามด้วย จะนึกถึงความปลอดภัยเฉพาะครูพุทธจนลืมนึกครูอิสลามก็ไม่ดี เพราะทุกวันนี้ทุกคนล้วนไม่ปลอดภัย"
ด้านครูชายอีกคนหนึ่ง ขอสงวนนาม โดยเขาทำงานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต1 กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดความสูญเสียขึ้นกับครู ก็จะสร้างความวิตกกังวลและหวาดกลัว แต่ทุกคนต้องทำหน้าที่ต่อไป ไม่มีใครกล้าพูดหรือฟันธงได้ว่าจะมีความปลอดหรือไม่ แต่ทุกฝ่ายก็พยายาม
"ผมเองในฐานะที่เป็นคณะกรรมการดูแลครู (ทำหน้าที่อยู่ในอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสเขต 1) ก็ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการโยกย้ายครูที่รู้สึกน่าจะไม่ปลอดภัยออกจากพื้้นที่ เพื่อลดปัญหาลงบางส่วน แต่ครูเองก็ต้องดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน ต้องระมัดระวัง ไม่ควรฝากความหวังไว้กับฝ่ายความมั่นอย่างเดียว เพราะไม่มีใครดูแลเราได้ 100% ถ้าเขาจะทำเขาสามารถทำได้ตลอดเวลา ขนาดเมืองหาดใหญ่ยังไม่รอด ฉะนั้นเราเองต้องไม่ประมาท"
ครูจากนราธิวาสรายนี้ บอกด้วยว่า ส่วนตัวไม่อยากให้มองว่าเฉพาะครูไทยพุทธเท่านั้นที่ไม่ปลอดภัย เพราะทุกคนไม่ปลอดภัยเหมือนกันทั้งหมด รวมถึงกลุ่มที่เป็นครูเหมือนกัน แต่เรียกชื่อคนกลุ่มนี้ต่างกัน คือ "ครูอุสตาซ" (ครูสอนศาสนาในโรงเรียนตาดีกาหรือปอเนาะ) ซึ่งครูกลุ่มนี้เสี่ยงอันตรายไม่ต่างกัน
"สิ่งสำคัญคือพอครูถูกยิงหรือถูกทำร้าย ก็จะเป็นข่าวใหญ่โต ทุกคนทุกฝ่ายให้ความสนใจ แต่หลังจากนั้นก็เงียบ ทั้งที่เราควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส หันมาพูดคุยและให้ความสนใจ หามาตรการที่ไม่ให้มีความสูญเสียเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกฝ่ายจริงจังในเรื่องเหล่านี้"
เป็นเสียงเล็กๆ จากครูชายแดนใต้...แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ เสียงแห่งความเดือดร้อนของครูจะได้ยินไปถึงผู้มีอำนาจบ้างหรือไม่?
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การเรียนการสอนในโรงเรียนอาเซียนของ จ.ยะลา