“คำวินิจฉัยสีเทา”คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรณีย้าย“ถวิล”
"..ทั้งๆที่รู้กันโดยทั่วไปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ทั้งๆที่ ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์ เป็นรากเหง้าของคอร์รัปชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระบบคุณธรรม แต่ ก.พ.ค. กลับไม่ให้ความสำคัญ หรือมองข้ามประเด็นนี้ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตั้งใจก็ตาม) .."
กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ จนมาสู่การฟ้องร้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครอง และร้องต่อฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ จนนำมาสู่การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2557
ประเด็นหนึ่งที่ไม่เป็นที่สนใจของหลายคนเท่าที่ควร คือการใช้ดุลยพินิจของ ก.พ.ค.ที่มีความเห็นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลเป็นไปโดยชอบ
เรียบเรียงให้เข้าใจอย่างง่ายๆดังนี้
ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้ย้ายนายถวิลไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 นายถวิลได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในการรับเรื่องวินิจฉัยคำร้องทุกข์ ก.พ.ค. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะที่ 2 กรรมการประกอบด้วย นายศราวุธ เมนะเศวต เป็นประธานกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ นายสุธา วิจักขณ์สุรการย์ และ นายอนุชา วงษ์บัณฑิต เป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์และเป็นเจ้าของสำนวน
คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะที่ 2 ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นโดยเสียงข้างมากเห็นว่าคำร้องทุกข์ของผู้ฟ้อง (นายถวิล) ฟังขึ้น จึงมีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยกเลิกคำสั่งโยกย้าย ส่วนกรณี พล.ต..อ.วิเขเชียร พจน์โพธิ์ศรี (ขณะนั้นเป็นเลขาฯสมช.)เป็นหน้าที่ของผู้มีบังคับบัญชาที่จะเยียวยาจัดหาตำแหน่งให้ปฎิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมต่อไป กรรมการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะที่ 2 ที่เห็นว่าคำร้องทุกข์ของนายถวิลฟังไม่ขึ้นและให้ยกคำร้องคือนายศราวุธ เมนะเศวต
จากนั้นมีการนำกรณีการร้องทุกข์ของนายถวิลเข้าสู่ที่ประชุม ก.พ.ค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ซึ่งมีนายศราวุธ เมนะเศวต เป็นประธานกรรมการ กรรมการอื่นประกอบด้วย นางจรวยพร ธรณินทร์ นางสาวทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล และนายภิรมย์ สิมะเสถียร ปรากฏว่าที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายที่เห็นว่ายกคำร้อง(การโยกย้ายทำโดยชอบ) คือ นายศราวุธ เมนะเศวต นางจรวยพร ธรณินทร์ นางสาวทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์
ฝ่ายที่เห็นพ้องกับมติของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์คณะที่ 2 เห็นว่าการโยกย้ายนายถวิลไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ นายบุญเลิศ ลิ้มทองกุล และนายภิรมย์ สิมะเสถียร
เมื่อคะแนนเสียงเท่ากัน 3 ต่อ 3 เสียง ต้องให้ประธานที่ประชุมชี้ขาด นายศราวุธ เมนะเศวต ในฐานะประธานจึงออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียงเห็นว่าการโยกย้ายนายถวิลทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับ ก.พ.ค. มีมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 เสียงเห็นว่าให้ “ยกคำร้อง”
“ดุลพินิจ”ของ ก.พ.ค.เสียงข้างมากมีดังนี้
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 152/2554 ลงวันที่ 7 กันยายน 2554 ให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคหนึ่ง (1) มาตรา 63 วรรคหนึ่ง มาตรา 132 และมาตรา 137 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว4 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 และแม้ขั้นตอนการโอนผู้ฟ้องคดีจะใช้เวลาเพียง 4 วัน แต่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไว้ทุกประการ
ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้รับมอบและมอบอำนาจ ให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง) กำกับการบริหารราชการและสั่งปฏิบัติราชการแทนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในส่วนของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่ชี้ชัดว่ามีข้อตกลงกันเพื่อเปิดช่องให้ตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าง เพื่อที่จะโอนย้ายพลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และแม้ว่าหากมีการตกลงกันจริงก็อยู่ในวิสัยที่นายกรัฐมนตรี สามารถดำเนินการได้ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ของร้อยตำรวจเอกเฉลิม (ให้สัมภาษณ์กดดันและต่อรองเพื่อให้พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ยินยอมที่จะโอนไปดำรงตำแหน่งอื่นเพื่อเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ มาเป็น ผบ.ตร.แทน) จึงเป็นความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น
ส่วนการมอบหมายและการกำหนดรายละเอียด หน้าที่รับผิดชอบว่านายถวิลต้องปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องใด ถือเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะมอบหมายตามความเหมาะสมเป็นรายกรณีๆ ไป
ก.พ.ค. มีความเห็นสรุปว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าพฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
จากข้อมูลข้างต้น ขอตั้งข้อสังเกตว่า “หลักการ”ใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคำร้องทุกข์ของ ก.พ.ค.เสียงส่วนใหญ่ แตกต่างจาก “หลักการ”ใช้ดุลยพินิจของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
หลักการวินิจฉัยของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญนั้นเห็นว่าคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลมีมูลเหตุจูงใจมาจาก “เจตนาพิเศษ”คือ ต้องการเอื้อผลประโยชน์ให้เครือญาติ ต้องการเปิดทางให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ รอง ผบ.ตร.และเป็นพี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ดามาพงศ์) ขึ้นเป็น ผบ.ตร. จึงต้องขยับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ไปเป็น เลขาฯสมช.
ขณะที่ ก.พ.ค.กลับมีความเห็นว่า พฤติการณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
ทั้งๆที่รู้กันโดยทั่วไปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์
ทั้งๆที่ ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นรากเหง้าของระบบอุปถัมภ์ เป็นรากเหง้าของคอร์รัปชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระบบคุณธรรม แต่ ก.พ.ค. กลับไม่ให้ความสำคัญ หรือมองข้ามประเด็นนี้ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตั้งใจก็ตาม)
ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ในคดีนายถวิล เป็นคำวินิจฉัย“สีเทา”เพราะไม่สามารถอธิบายในข้อเท็จจริงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้อย่างกระจ่างชัด เช่นเดียวกับคำวินิจฉัย “คดีซุกหุ้นภาคแรก”ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 ที่ตัดสินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีความผิดด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 เสียง
ก.พ.ค. ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มีหน้าที่เสนอแนะ หรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบ คุณธรรมในราชการ พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และการคุ้มครองระบบคุณธรรม รวมไปถึงการออก กฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลพวงของคำวินิจฉัยสีเทาย่อมนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของ ก.พ.ค. ในประเด็นที่ว่า ก.พ.ค.จะเป็นที่พึ่งของข้าราชการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้อย่างไร?