นักวิจัยชี้กทม.ดินอ่อน อนาคตแผ่นดินไหวแรง คาดกระทบถึง 10 อาคาร
นักวิจัย สกว. เผยเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายไม่นับเป็นแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงสุดที่เคยเกิดขึ้นในไทย แนะควรเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดอีก ขณะที่กรุงเทพฯ ดินอ่อนเสี่ยงเสียหายรุนแรง ชี้สร้างอาคารใหม่ควรทำตามมาตรฐานกำหนด
วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าวเรื่องวิเคราะห์แผ่นดินไหวภาคเหนือและการสรรางมาตรการป้องกันและตั้งรับในระดับภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้โดยมี ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.กล่าวเปิดงาน และนักวิจัยอีกหลายท่านร่วมวิเคราะห์สถานการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย ณ ชั้น 14 ตึก เอส เอ็ม ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
รศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย ยังไม่นับเป็นแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะจากสถิติการแผ่นดินไหวที่เคยตรวจวัดได้ พบมีความแรงมากที่สุด 6.5 ริกเตอร์ ที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2478 ทั้งนี้ในอนาคตอาจเกิดความรุนแรงและเสียหายมากกว่านี้หากเกิดใกล้กับเมืองใหญ่
ล่าสุด รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ได้ลงสำรวจสภาพความเสียหาย ณ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่แม่ลาว จ.เชียงราย บริเวณจุดเกิดแผ่นดินไหว เน้นอาคารที่อ่อนแอต่อแรงแผ่นดินไหว จึงต้องเร่งดำเนินการให้มีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติพร้อมทั้งให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวกับประชาชนมากขึ้น
“บทเรียนที่เราได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นในอนาคตอาจจะรุนแรงมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมรับมือจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” รศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว และว่า การที่กรุงเทพมหานครได้รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวนั้นเนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีลักษณะของดินเป็นดินอ่อน ซึ่งสามารถขยายความแรงได้มากกว่าปกติถึง 3-4 เท่า และในอนาคตหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอาจมีผลกระทบต่ออาคาร 10 หลัง ซึ่งมีความสูงระหว่าง 20-40 ชั้น โดยปัญหาสำคัญคืออาคารที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมากไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวที่รุนแรง ตัวอย่างเช่น ตึกแถว ห้างร้านต่าง ๆ อาจมีการโยก เสาชั้นล่างหักโค่น
ด้าน รศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ สิรินธร กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวจังหวัดเชียงรายไม่ใช่แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย แต่เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเสียหายทั้งอาคารบ้านเรือนมากมาย จึงสร้างความหวาดกลัวกับประชาชน
สำหรับกรุงเทพฯ รศ. ดร.อมร กล่าวว่า ที่รับรู้ถึงแรงสั่นของแผ่นดินไหวในบริเวณตึกสูง ซึ่งไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามกรุงเทพฯ มีดินที่มีลักษณะเป็นดินอ่อนและมีรอยเลื่อนใกล้ๆ คือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ใน จ.กาญจนบุรีที่เชื่อมกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า จึงต้องระมัดระวังในเรื่องของการก่อสร้างอาคารใหม่
รศ. ดร.อมร ยังได้กล่าวถึงอาคารที่มีความเสี่ยง อันได้แก่ ตึกแถวที่มีเสาเล็กหรือคานเล็กเสาใหญ่ อาคารพื้นท้องเรียบไร้คาน เช่น อาคารจอดรถที่ไม่ได้มาตรฐาน อาคารหรือบ้านเดี่ยวที่ก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนสำเร็จรูป ตึกสูงดีไซน์แปลก ๆ
“แนวทางแก้ปัญหาต้องพยายามเน้นที่เสา ปัญหาของการก่อสร้างส่วนใหญ่พบเสาใส่เหล็กปลอกน้อยเกินไป จึงต้องเสริมกำลังโครงสร้างด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ แต่หากเป็นบ้านหลังเล็กอาจใช้ลวดโครงไก่ และฉาบปูนให้เสามีขนาดใหญ่ขึ้น หรือใช้แผ่นเหล็กหุ้มและตอกปูนลงไปเพื่อให้เสาแข็งแรงขึ้นและโยกตัวได้โดยที่โครงสร้างเสาไม่เกิดความเสียหาย รวมถึงการเทคอนกรีตขยายเสาให้ใหญ่ขึ้น“ รศ. ดร.อมร กล่าวถึงวิธีการแก้ไขโครงสร้างของบ้าน
ส่วนรศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ขณะนี้โจทย์ในการวิจัยยังคงเสนอให้ ออกแบบอาคารใหม่เพื่อสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ในระดับที่เหมาะสม และเสริมกำลังอาคารเดิมให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น พร้อมทั้งเสนอให้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถให้โครงสร้างของเมืองฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ในเบื้องต้นได้จัดทำแบบจำลองในห้องปฏิบัติการเพื่อหามาตรการรับมือ ซึ่งพบว่าคานส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีความเสียหายมากเท่ากับเสา ทำให้เกิดความเสียหายแบบชั้นอ่อน เช่น ผนังก่ออิฐที่แยกตัวจากเสา เป็นต้น