"ไพบูลย์" เผย "สุรชัย" ครองเก้าอี้ ปธ.วุฒิฯ เดินหน้าตั้งนายกฯ คนใหม่
ไพบูลย์ เผย สุรชัย ครองเก้าอี้ ปธ.วุฒิ มติ 96 : 51 เสียง ชี้ ทางเปิดสู่การเสนอชื่อแต่งตั้งนายกฯ เฉพาะกาล ตามมาตรา 172 , 173
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงการลงมติเลือกประธานวุฒิสภาว่า ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีมติ 96 ต่อ 51 เสียง ให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธานวุฒิสภภา แต่เนื่องจากต้องรอให้คณะรัฐมนตรีรักษาการ และ นายกฯ รักษาการ เสนอชื่อเพื่อรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ดังนั้น จึงอาจเกิดอุปสรรค หากคณะรัฐมนตรีรักษาการไม่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
“ปัญหาคือ เราไม่ยอมรับอำนาจ ครม.รักษาการ แม้จะเป็นที่แน่นอนว่าถ้าได้ชื่อประธานวุฒิสภามาแล้วก็ต้องส่งไปให้ครม.รักษาการ เพื่อให้นายกฯ รักษาการนำชึ้นทูลเกล้า แต่ครม. ที่รักษาการอยู่ตอนนี้ ไม่มีอำนาจออก พรฎ. จึงทำอะไรไม่ได้ รวมทั้งเขาเองก็อาจจะไม่ยินดีนำชื่อประธานวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ " นายไพบูลย์ระบุ
และกล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ถึงแม้นายสุรัชจะยังเป็นเพียงว่าที่ประธานวุฒิสภา แต่ไม่ว่าอย่างไรเมื่อสถานการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ คือ นายสุรชัย ได้คะแนนเสียงถึง 96 ต่อ 51 เสียง ก็ยังสามารถเดินหน้าพูดคุยหารือกับผู้นำองค์กรต่างๆ เพื่อหาทางออกประเทศด้วยการเสนอชื่อบุคคล ที่เหมาะสม เป็นนายกฯ คนใหม่ ตามกระบวนการมาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลม
"แม้จะเป็นว่าที่ประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา ก็สามารถจะไปคุยกับผู้นำองค์กรต่างๆ แล้วหาแนวร่วมความเข้าใจ ในความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อหานายกฯ และเมื่อได้ชื่อร่วมกันแล้ว รองประธานวุฒิสภา ก็นำชื่อนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ จากนี้การได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่ จะเกิดเร็วขึ้น และยังสามารถใช้มาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลมได้ โดยเอาชื่อที่มีการเสนอจากมวลมหาประชาชน เสนอเป็นญัตติในที่ประชุมวุฒิสภา แล้วที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ แล้วประธานวุฒิสภาหรือรองประธานวุฒิสภาเสนอชื่อกราบบังคมทูลฯ เพราะนี่คือการทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมวุฒิสภา" นายไพบูลย์ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่ารายละเอียดของการตั้งนากยกฯ เฉพาะกาลตามมาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลม เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรคท้าย ที่โยงไปถึงมาตรา 172 และมาตรา 173 โดย มาตรา 180 บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามาตรา 182
( 2) อายุสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร
( 3 ) คณะรัฐมนตรีลาออก
ในกรณีที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามาตรา 182 (1) (2) (3) (4) (5) (7) หรือ (8) ให้ดำเนินการตามมาตรา 172 และมาตรา 173 โดยอนุโลม
ขณะที่ มาตรา 172 บัญญัติว่าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมมาตรา 127
การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง
มติของสภาผู้แทนราษฎร ที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
ส่วนมาตรา 173 บัญญัติว่า ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรีกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป้นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 172 วรรคสาม ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี