ผศ.เอี่ยม ทองดี เปิดมุมมอง “ข้าวไทย ปลูกทำไมถ้าขายไม่ออก”
“เมื่อรัฐบาลชุดนี้ (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) เข้ามารับหน้าที่ใหม่ๆ ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งมาหาผม บอก “อาจารย์วันนี้ได้โอกาสแล้ว จะพัฒนาข้าวอย่างไร ผมใกล้ชิดมากกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาจารย์ใส่มาเลย มาทำงานอยู่กับผม เพื่อนำความคิดไปใส่ในนโยบาย
ผมถามกลับไปว่า เอาจริงหรือ ถ้าเอาจริง นโยบายข้าวประเทศไทยต้องเปลี่ยนเลยนะ! เปลี่ยนจากการแข่งขัน เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนที่ผลิตข้าว
หากเราผลิตข้าวแบบร่วมมือระหว่าง พม่า ไทย ลาว กัมพูชา แล้วไม่เป็น “มหาอำนาจข้าว” ผมให้เตะ ซึ่งก็เหมือนกับน้ำมันมีโอเปก ข้าวกินได้ น้ำมันยังขาดได้ ซึ่งข้าวมีความวิเศษ หากเราสามารถรวมประเทศผลิตข้าวได้ รวมตัวผลิต บริโภค แจกจ่าย และแลกเปลี่ยน ผมว่าสุดยอด ผมใส่เข้าไป แต่นโยบายออกมาเป็นจำนำข้าว”
ผศ.เอี่ยม ทองดี เจ้าของผลงานเขียนหนี้ของชาวนา ต้นกำเนิดการพักหนี้เกษตรกร และผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ และกรรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล่าย้อนความกลับไปเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วแบบเปิดใจ ในระหว่างเวทีเสวนาเล็กๆ เรื่อง “ข้าวไทย ปลูกทำไมถ้าขายไม่ออก” จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็วๆ นี้
“สุดยอดเลยๆ ” อาจารย์เอี่ยม กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก ก่อนหัวเราะกลบเกลื่อน ด้วยยังไม่เคยบอกใครเลยเรื่องนี้
“ผมไม่กล้าบอก เป็นเรื่องขำมากๆ สำหรับผม ผมคิดไปทางนี้ เขาไปทางนี้ สุดโต่งเลย ก็ไม่รู้เปลี่ยนไปยังไงนะ”
อาจารย์เอี่ยม เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยใช้ ข้าวเป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างความรุ่งเรืองเลย เราไม่ใช้ข้าว ทั้งๆ ที่ข้าวเป็นอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของชาติ เราใช้อย่างอื่น เราเห็นแต่ “มูลค่า” ไม่เห็น “คุณค่า” ของข้าว
ในฐานะผู้ศึกษาวัฒนธรรมข้าวมาอย่างยาวนาน อาจารย์เอี่ยม ได้ให้คำอธิบายคุณค่าของข้าว ไว้อย่างน่าสนใจที่น้อยคนนักจะพูดถึง และสังคมไม่เคยคิดเลย
1.ข้าวทำให้เราเข้าถึง “ความพอเพียง” ในปัจจัยพื้นฐาน (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค)
2.ข้าวทำให้เราเข้าถึง “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน”
3.ข้าวทำให้เราเข้าถึง “ความรัก ความสามัคคี และความเข้มแข็งของสังคม” เกิดการแบ่งปัน เสียสละ
4.ข้าวทำให้เราเข้าถึง “ชื่อเสียง เกียรติยศศักดิ์ศรี และอัตลักษณ์” ให้กับชุมชน เช่น ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีชื่อเสียงมีศักดิ์ศรีในฐานะเป็นผู้ผลิตข้าว มีข้าวหอมมะลิที่เชิดชูเกียรติคนไทย
และ5.เราใช้ข้าว เพื่อเข้าถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามอุดมการณ์ ความเชื่อ และศาสนา
ด้วย “คุณค่า” ของข้าวทั้ง 5 ข้อนี้ อาจารย์เอี่ยม ระบุว่า ทำให้เกิด “มูลค่า” เป็นเงิน ทอง สิ่งของ เมื่อใช้ข้าวมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
แต่ที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ เขาเห็นว่า มีสิ่งที่มาแทรกตรงกลาง มีเรื่องของมูลค่าเข้ามา สรรพสิ่งไปตกที่มูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย ระบบกลไก การลงทุนทั้งหมดเพื่อสร้างมูลค่าอย่างเดียว จึงทำให้มีปัญหา “วิกฤติเรื่องมูลค่า”
ยิ่งทุกวันนี้ชาวนาแห่ปลูกข้าวเพื่อนำมาเข้าโครงการจำนำข้าว จนข้าวล้นสต๊อก ขายไม่ออก กอรปกับเจอปัญหาสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐค้างหนี้ชาวนาหลายล้านคน
สำนักข่าวอิศรา ชวนไปพูดคุยกับอาจารย์เอี่ยม ให้เห็นอีกมุมมอง “ข้าว คุณค่า มูลค่า มนุษย์”
@ เราควรปลูกข้าวอยู่หรือไม่ ในเมื่อปลูกไปก็ขายไม่ออกแบบนี้
จริงแล้วที่เราต้องปลูกเพราะข้าวเป็นพืชอาหารที่ทำให้เราเข้าถึงคุณค่าของชีวิต ข้าวยังเป็นสิ่งจำเป็นคู่กับชีวิตคนไทย ไม่มีพืชชนิดใดสร้างคุณค่าโดยตรงให้กับชีวิต ครอบครัว สังคม ที่พืชชนิดอื่นไม่มี แม้จะมีราคาแพงมากกว่า ก็ไม่สามารถสนองตอบเราได้
ผมอยากให้ลองศึกษา และกลับมาพิจารณาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้ได้คำตอบของคำถาม ทำอย่างไรเราจะเห็นคุณค่าของข้าว ในเมื่อประเทศไทยมีเพชรอยู่ในมือแล้ว
@ ทำไมอาจารย์ไม่มอง ข้าวคือสินทรัพย์ เหมือนคนอื่นๆ เช่น สามารถเอาไปกู้เปลี่ยนเป็นเงินได้
อันนั้นเป็นการมองแบบทุนนิยมเสรี แต่ผมมองแบบสมดุล ระหว่าง “คุณค่า” กับ “มูลค่า” ให้สมดุล เพราะในโลกปัจจุบันเราพัฒนาไปบนฐานของคุณค่าอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีมูลค่า
แต่ผมขอให้สมดุล บนฐานของศีลด้วย
@ รู้สึกอย่างไรกับนโยบายข้าวที่ผิดเพี้ยน และสร้างมูลค่าเสียหายให้กับประเทศมหาศาล
ผมไม่รู้สึกอย่างไร ผมไม่มีความหวังเอาเลย (ถอนหายใจ)
ไม่มีอะไรให้ผมมีความรู้สึกแล้ว เหมือนโลกของสังคมไทยถูกครอบด้วยสิ่งนี้ ผมไม่อยากคาดหวังอะไรแล้ว คงต้องปล่อยไปตามกรรม
“ผมรู้สึกหมดหวังกับสังคมไทย ที่เราบอกว่า อยากพัฒนาให้สังคมเจริญเติบโต แต่ที่จริงแล้วเป็นนโยบายที่ทำลายการพึ่งตนเอง ทำลายความเข้มแข็งของสังคม ทำลายความอบอุ่น ทำลายความรัก และทำลายความปลอดภัยทั้งหมดตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง”
นโยบายจำนำข้าว เน้นที่มูลค่ามาก เราละเลยสิ่งนี้ จึงนำมาซึ่งความทุกข์ คนไทยในวัฒนธรรมข้าว เราบอกว่า “ การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก” แต่เรากลับพัฒนาไปบนฐานการเป็นหนี้ เราเชื่อกันว่า สิ่งที่เรามีอยู่มีคุณค่าโดยตรง แต่เรากลับไปสร้างคุณค่าโดยอ้อม ซึ่งไม่มั่นคง เราเหมือนไม่รู้ดีรู้ชั่ว นโยบายจำนำข้าวจึงไม่รู้ว่า อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ และเป็นนโยบายไม่ได้สร้างสมดุลระหว่างคุณค่ากับมูลค่าเลย
@ เรื่องข้าวตอนนี้พังทั้งระบบ จะฟื้น หรือแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
ผมว่า ต้องใช้เวลาในการฟื้นคืน วันนี้ชาวนาไม่เห็นคุณค่าของข้าว ชาวนาไม่รู้คุณค่าข้าวคืออะไร
“เขาคิดว่ามีเงินก็ซื้ออาหารได้ เงินซื้อได้ทุกอย่าง”
สุดท้ายผมมองไปที่หลักสูตรการศึกษา ที่ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่ควรจะเป็น ทำอย่างไรหลักสูตรเหล่านั้นจะบรรจุสาระคุณค่าของข้าวเอาไว้ เหมือนเพชร ทำอย่างไรรักษาเพชรเอาไว้ได้ ทำอย่างไรให้ลูกหลานเห็นข้าวคือเพชร ที่เราต้องรักษาไว้
@ ช่วยอธิบายแนวคิดความร่วมมือผลิตข้าวในประเทศอาเซียน ที่รัฐบาลชุดก่อนไม่ซื้อ
การให้ความร่วมมือผลิตข้าวในประเทศอาเซียน คือการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมบริโภคผล และร่วมประเมินผล ซึ่งการผลิตข้าวต้องร่วมกันทำ ไม่ใช่ร่วมกันเอาเปรียบ ขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ที่จะมาต้องร่วมมือกันนั้นก็ต้องมีเรื่องคุณธรรมกำกับด้วย
“คุณเห็นสัญลักษณ์อาเซียนไหม รวงข้าวมัดรวมกัน นี่คือสิ่งที่ผมพูดมานานแล้ว ใช่แสดงว่า นี่มีคนเห็น ผมเห็นว่า ไม่มีอะไรเป็นลักษณะเด่น ดีงาม ของอาเซียนนอกจาก “ข้าว””
หากจะร่วมมือกันเราต้องเปลี่ยนเป้าหมาย หากอาเซียนจะร่วมมือกัน บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ของชีวิต ศาสนา และความเชื่อ อย่าเป็นเป้าหมายที่พยายามครองโลกด้วยเงินอย่างเดียว
@ มองเป้าหมายของประชาคมอาเซียนอย่างไร ที่เน้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องเศรษฐกิจ
ผมว่า นโยบายอาเซียนที่ดำเนินมายังไม่ใช่ แต่ต้องเป็นเสาของสังคมและวัฒนธรรม
“กิจกรรมเล็กๆ ที่เรียนรู้จากวัฒนธรรมข้าว ที่สร้างความรัก ความสามัคคี ความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วม จึงน่าจะเป็นทางออกและแนวทางแก้ไขของข้าวในปัจจุบันและอนาคตได้”