เลิกมโน!การศึกษาไทยไม่ดีเหตุลงทุนน้อย-นักวิจัยเปิดบัญชีรายจ่ายค่าเฉลี่ยติดอันดับโลก
เปิดข้อมูลรายจ่ายการศึกษาไทยพบลงทุนเป็นอันดับ 2 ของโลก นักวิชาการชี้งบส่วนใหญ่ตกอยู่ที่รายได้ของบุคลากรครุูมากกว่าพัฒนาการศึกษา ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในเวทีเศรษฐกิจโลกไทยรั้งท้ายในอาเซียน
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และเครือข่ายเพื่อนปฏิรูปการเรียนรู้จัดงานประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
ทั้งนี้ในการประชุมกลุ่มย่อยมีการเสวนา “เปิดข้อมูลเส้นทางรายจ่ายด้านการศึกษาไทย:บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า จากข้อมูลของยูเนสโก ในปี 2554 พบว่า ประเทศไทยมีรายจ่ายด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับรายจ่ายงบประมาณแผ่นดินสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศกานา โดยไทยลงทุนด้านการศึกษาอยู่ที่ 24% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 20% และเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีการพัฒนาด้านการศึกษาในหลายประเทศเช่น สิงคโปร์ อยู่ที่20.5%มาเลเซีย20.8%และญี่ปุ่น9.7% ขณะที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไทยบนเวทีเศรษฐกิจโลกนั้นไทยกลับมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในลำดับรั้งท้ายของอาเซียน
“ก่อนหน้านี้การลงทุนงบประมาณการศึกษาจะรู้เพียงภาพกว้างแต่ไม่เคยรู้เชิงลึกถึงงบประมาณที่ใช้ไปว่า ลงที่จุดใดจึงเกิดโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาเพื่อให้รู้ว่างบประมาณที่จ่ายออกไปในความเป็นจริงถูกเอาไปใช้เรื่องอะไรบ้างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมากน้อยเพียงใด”
ดร.ไกรยศ กล่าวถึงผลการวิจัยบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาตั้งแต่ปี 2551-2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาไทย 80% ภาครัฐเป็นผู้จ่าย แม้ว่าเรามีการเรียนฟรี 15 ปี แต่ครัวเรือนก็ยังเป็นผู้ออกอีก 20% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ซึ่งเป็นค่าเดินทางหรือค่าเล่าเรียนเพิ่มเติมที่โรงเรียนเรียกเก็บ โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จ่ายงบประมาณการศึกษามากที่สุด 80% ส่วนท้องถิ่นจ่ายอยู่ที่ 15% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่านมและอาหารกลางวันรายจ่ายทางการศึกษาเมื่อไปถึงโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ระดับชั้นป.1-ม.6 มีงบประมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 34,451 บาทต่อคนต่อปี หรือเกือบ 100 บาทต่อคนต่อวัน
อีกทั้งยังพบว่า 75 บาทเป็นเงินเดือนครูโดยตรง ตามด้วยอาคาร สถานที่ สิ่งก่อสร้าง ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำค่าไฟ ประมาณ 10 บาทเหลือเพียง4.5บาทเท่านั้นที่เป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาผู้เรียน และอีก0.5บาทเป็นงบสำหรับพัฒนาการเรียนการสอนของครู
"ดังนั้นหากมีการนำงบประมาณส่วนเพิ่มของการศึกษาในแต่ละปีมีงบที่เพิ่มขึ้น7%ต่อปีหรือ20,0000ล้านบาทต่อปีไปใช้พัฒนาผู้เรียนโดยตรงก็จะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กไทย" ดร.ไกรยศ กล่าว และว่า ภาครัฐควรเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณที่คิดแบบรายหัวเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่และโรงเรียนขนาดเล็กบางส่วนที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นโดยการจัดทำระบบฐานข้อมูลโรงเรียนเพื่อจัดลำดับโรงเรียนที่มีความจำเป็นในการสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนสูตรการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ
ภาครัฐลงทุนการศึกษาก้าวกระโดด
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยใช้เงินมากสำหรับการศึกษา แต่ก่อนเคยคิดว่า การศึกษาไม่ดี เพราะมีการลงทุนน้อย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้วเพราะ10ปีที่ผ่านมามีการก้าวกระโดดของภาครัฐในการลงทุนเรื่องการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น2เท่า และขณะนี้มีการลงทุน4-5แสนล้านบาทต่อปี แต่ผลที่ออกมากลับไม่ดี ประสิทธิภาพแย่ลงโดยพบว่าผู้ที่จบการศึกษายังทำงานไม่ได้ต้องเอามาฝึกหัดนาน หลายคนไม่มีพื้นฐานที่จะเรียนรู้ต่อ หากดูจากการวัดผลทั้งจากPISAและการสอบO-NETก็ตกกันครึ่งประเทศ
ด้านดร.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า เราไม่ได้ลงทุนในเรื่องการศึกษาน้อย แต่การลงทุนของเราไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบโรงเรียนที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้คนต้องไปเรียนกวดวิชามากขึ้น เพราะไม่แน่ใจความรู้จากโรงเรียนเพียงพอหรือไม่การกวดวิชาก็เป็นการลงทุนเพิ่มทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพกับคนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึง การลงทุนในครูปัจจุบันได้รับค่าตอบแทนแบบก้าวกระโดดเหมือนกับงบด้านการศึกษา เพราะมีคณะกรรมการกำหนดการเพิ่มเงินเดือนและวิทยฐานะ เงินเดือนของครูจึงกลายเป็นการลงทุนก้อนใหญ่ในระบบการศึกษา
“สิ่งที่ต้องคิดตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้เงินเดือนของครูที่เพิ่มขึ้นไปผูกโยงกับผลการเรียนรู้ของเด็กที่ดีขึ้น แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเมื่อใส่เงินเข้าไปมากแต่คุณภาพของเด็กที่มาจากโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลยังมีความเหลื่อมล้ำจากเด็กที่เรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่กว่า ดังนั้นการทำให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้นต้องมาจากองค์ประกอบหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบประเมินผล ระบบการพัฒนาครูระบบการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา ตำราหลักสูตรการปรับวิธีการสอนที่ไม่เหมือนเดิม”