"กองทัพน้อยที่ 4" สวนทางดับไฟใต้หรือเปล่า?
โฆษก กอ.รมน.แถลงผลประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พูดในที่ประชุมถึงการจัดตั้งหน่วยใหม่ คือ "กองทัพน้อยที่ 4" เริ่มตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ โดยให้ทะยอยเข้ารับผิดชอบงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
เนื้อหาในคำแถลงมีเท่านี้ แต่สาระสำคัญที่น่าหยิบมาพูดคุยกันต่อคือ เรากำลังจะมี "กองทัพน้อยที่ 4" แล้วใช่ไหม และการมีกองทัพใหม่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่อย่างไร?
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ากองทัพภาคที่ 4 ที่รับผิดชอบภาคใต้ หรือ "ด้ามขวานทองของไทย" เป็นกองทัพเดียวจาก 4 กองทัพที่ไม่มี "กองทัพน้อย" ส่วนกองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคกลาง-ตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือตามลำดับนั้น ล้วนมี "กองทัพน้อย" ทั้งสิ้น
ฉะนั้นการจะตั้ง "กองทัพน้อยที่ 4" ขึ้นมาย่อมไม่เห็นแปลก แต่ที่น่าแปลกก็คือเรื่องนี้ถูกตีตกไปหลายครั้ง เช่น เมื่อปี 2555 สมัยที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้จัดตั้ง
"คงให้ไม่ได้ เพราะมีแต่หัวอย่างเดียว ผมได้คุยไปแล้ว คงให้ไม่ได้ เขาก็เข้าใจ (หมายถึงกองทัพบก) ก็จำนนด้วยเหตุผล" พล.อ.อ.สุกำพล ให้สัมภาษณ์ทีมบรรณาธิการเครือเนชั่น และผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวอิศราเอาไว้เมื่อกลางปี 2555
กระทั่งปัจจุบันที่มีข่าวเรื่อง "กองทัพน้อยที่ 4" อีกรอบ ได้สอบถามเพื่อนพ้องน้องพี่ในกองทัพไทย ทราบว่ายังไม่มีเรื่องผ่านเข้าไปตามขั้นตอน เพราะการแบ่งส่วนราชการใหม่ต้องผ่านกองทัพไทย และไปที่กระทรวงกลาโหม โดยมีปลายทางอยู่ที่รัฐมนตรีกลาโหมลงนามอนุมัติ
แต่การที่ ผบ.ทบ.พูดชัดเจนกับหน่วยขึ้นตรงฯขนาดนี้ เข้าใจว่าคงล็อบบี้เคลียร์ทางกันเรียบร้อยแล้ว...
เรื่องการจัดตั้ง "กองทัพน้อยที่ 4" ทบ.ผลักดันกันมาและเริ่มมีแผนเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2554 โดยจะตั้งหน่วยกันที่ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช แต่ถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายด้วยเหตุผลคือ
1.เกรงต้องเพิ่มกำลังพลและเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว
2.ขัดกับแผนแม่บทปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมที่มีแผนให้ยุบกองทัพน้อยที่มีอยู่ 3 กองทัพในปี 2559
3.ภารกิจหลักของกองทัพน้อยคือทำการฝึก แต่การผลักดันตั้งกองทัพน้อยที่ 4 เพื่อรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งน่าจะเน้นภารกิจการรบ จึงน่าจะไม่สอดคล้องกัน
4.เป็นการเพิ่มอัตราพลโทและพลตรีอีกหลายอัตรา
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่สนับสนุนให้มี "กองทัพน้อยที่ 4" ก็ให้เหตุผลว่า การมีกองทัพน้อยสอดคล้องกับโครงสร้างเดิมของการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว คือมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบงานยุทธศาสตร์ และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร หรือ พตท. เป็นหน่วยบัญชาการใช้กำลัง เดิมก็มีนายทหารยศพลโทดำรงตำแหน่ง ผบ.พตท. เช่น พล.ท.กสิกร คีรีศรี เป็นต้น
ปัจจุบันกรมทหารพรานในพื้นที่ได้ขยายเป็น 9 กรมทหารพราน (เฉพาะที่กองทัพภาคที่ 4 รับผิดชอบ ไม่รวมที่กองทัพภาคอื่นรับผิดชอบ) กับอีก 1 กองพลทหารราบ คือ กองพลทหารราบที่ 15 จึงมีขนาดกำลังที่ใหญ่ขึ้น การมีกองทัพน้อยขึ้นมารับผิดชอบก็เพื่อกำหนดภารกิจให้ชัดเจน รัดกุม และใช้ "กองทัพน้อยที่ 4" รับผิดชอบภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไปเลย อัตราพันเอกพิเศษและนายพลที่ขยายขึ้นจะได้รองรับ "ผบ.กองกำลัง" ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว
การตั้งกองทัพน้อยที่ 4 จะคล้ายคลึงกับการที่ตำรวจตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. รับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นการเฉพาะ
ทั้งหมดที่ไล่เรียงมาคือเหตุผลของทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุน ซึ่งคงสรุปได้ยากว่าเหตุผลฝ่ายใดดีกว่ากัน ทว่าการส่งสัญญาณจาก ผบ.ทบ.ว่ากำลังจะมี "กองทัพใหม่" เพิ่มขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ไม่ทราบว่าสามารถตอบคำถามที่ พล.อ.อ.สุกำพล อดีตรัฐมนตรีกลาโหม เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ได้หรือยัง และที่สำคัญดูจะสวนทางกับนโยบายลดกำลังทหารหลัก ถ่ายโอนให้กองกำลังประจำถิ่น และนโยบายพูดคุยเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบและกลุ่มผู้เห็นต่างที่รัฐบาลดำเนินการมาและกำลังจะผลักดันต่อไปด้วย
หรือว่ากองทัพเตรียมจะ "เทคโอเวอร์" ควบคุมการพูดคุยเจรจาเองทั้งหมดตามที่เคยเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้...ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : "อนุสาวรีย์วีรไทย" สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่่ 2 ตั้งอยู่ในค่ายวชิราวุธ กองทัพภาคที่ 4 อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ขอบคุณ : ภาพจากวีดีโอแนะนำอนุสาวรีย์วีรไทย ในเว็บไซต์ของกองทัพภาคที่ 4