ความแตกต่างระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับ โกดังเก็บของแห่งชาติ
เมื่อเราเป็นเด็กเรียนหนังสือทั้งในระดับประถมและมัธยม ครูมักจะปลูกฝังเสมอว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นสถานที่สำคัญที่สามารถใช้เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์และ ศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพราะ “พิพิธภัณฑ์” เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและทรัพย์สมบัติล้ำค่าสำคัญของประเทศชาติไว้เพื่อเป็นมรดกแก่คนรุ่นหลัง เมื่อมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ หลายคนจะใช้เวลาไปกับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพราะทำให้ได้รู้จักเข้าใจและรับรู้ถึงที่มาหรือรากเหง้าของคนในประเทศหรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์นั้นๆได้ในระยะเวลาอันสั้น พิพิธภัณฑ์ที่มีการบริหารจัดการดีจะสามารถทำให้ผู้เข้าชมซึมซับและรับรู้ถึงความภาคภูมิใจในความเป็นชาติหรือมองเห็นถึงคุณค่าของบุคคลที่พิพิธภัณฑ์มุ่งประสงค์จะนำเสนอจนถึงเกิดความประทับใจได้โดยไม่รู้ตัว และนี่คือ “เสน่ห์” ของพิพิธภัณฑ์ ในบางประเทศการเข้าชมพิพิธภัณฑ์จะต้องมีการซื้อบัตรล่วงหน้า เดินทางไปถึงก่อนเวลาที่กำหนด และต้องยืนรอเข้าแถวเพื่อจัดลำดับการเข้าชมกันนานหลายชั่วโมง แต่ผู้ชมก็มีความยินดีและเต็มใจที่จะจ่ายค่าเข้าชมในอัตราที่ค่อนข้างสูงเพื่อให้ได้รับโอกาสในการเข้าไปสัมผัสและรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆที่เก็บรักษาไว้จากรุ่นสู่รุ่นนั้นเป็นการตอบแทน
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้ความสนใจจัดตั้งพิพิธภัณฑ์กันขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น “บ้านพิพิธภัณฑ์”ของคุณอเนก นาวิกมูล บริเวณถนนพุทธมณฑล สาย ๒ “หอเกียรติยศคุณบรรหาร ศิลปอาชา” ที่จังหวัดสุพรรณบุรี “พระตำหนักดารารัศมี” อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หรือแม้แต่ “หอฝิ่น” ที่อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย ในบรรดาที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” เพราะในการจัดแสดงสามารถทำให้ อาคาร วัตถุสิ่งของ ประวัติบุคคลที่จัดแสดง กลายเป็นผู้เล่าเรื่องให้ผู้ชมซึมซับ รับรู้ได้เช่นเดียวกับการนั่งชมภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ หรือชีวประวัติที่สร้างจากเรื่องจริงโดยมีวัตถุสิ่งของ อาคารสถานที่ที่จัดแสด เป็นประจักษ์พยานประกอบเรื่องเล่านั้นๆได้อย่างน่าสนใจ
การที่บทความนี้ใช้การเกริ่นนำถึง ความสำคัญ เสน่ห์และความน่าสนใจ รวมถึงรายได้ที่สามารถสร้างขึ้นได้จากการชมพิพิธภัณฑ์ในหลายๆแห่งทั้งในและต่างประเทศมาเป็นพื้นฐานข้อมูลตั้งแต่ต้นนั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ที่ตั้งอยู่บริเวณสนามหลวง ที่เพิ่งมีโอกาสได้เข้าไปชมเมื่อช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรู้สึกอัดอั้นจนอดไม่ได้ที่จะต้องให้ข้อแนะนำ ทักท้วง ติติง ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง อันได้แก่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ด้วยความรู้สึกห่วงใยในทรัพย์สมบัติอันประเมินมูลค่าไม่ได้ของชาติเหล่านั้น และเพื่อก่อให้เกิดจิตสำนึกแก่ผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของชาติ ว่า คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ หมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ ยิ่งคำว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museum) ยิ่งต้องแปลความว่า เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญใน “ระดับชาติ”
ป้ายแสดงให้เห็นควรสำคัญของสถานที่ว่าเป็น “พระราชวัง”
สำหรับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร จากที่ได้เข้าชมในปัจจุบัน มีการจัดแบ่งแผนผังห้องจัดแสดงออกเป็น ๑๔ ส่วน (ตามเอกสารแนะนำ) สำหรับห้องจัดแสดงส่วนแรกที่เข้าชม ได้แก่ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และพระตำหนักแดง ที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องไม้และเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถานที่จัดแสดงที่เปรียบเสมือนได้ว่าเป็น “ห้องรับแขก” ของพิพิธภัณฑ์นี้ เพราะจากสภาพที่พบเห็นมีการรักษาความสะอาด จัดระเบียบการดูแลรักษาสถานที่ไว้เป็นอย่างดี (แม้จะยังไม่ดีเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนานาชาติ) อาจเป็นด้วยเหตุผลที่อาคารทั้งสองแห่งอยู่ในส่วนด้านหน้า และมีผู้เข้าไปกราบไหว้สักการะพระพุทธสิงหิงค์ และชื่นชมในความสวยงามของเรือนไม้ไทยของพระตำหนักแดงตลอดเวลา แต่ในส่วนจัดแสดงอื่นๆนอกเหนือจาก ๒ ส่วนแรก อันได้แก่ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยและหมู่พระวิมาน ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงเครื่องมหรรฆภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงงานศิลป์อันทรงคุณค่า ที่บริเวณมุขกระสัน เครื่องราชยานคานหาม ภายในพระที่นั่งภิมุขมณเฑียร เครื่องทอง ภายในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ เครื่องงาช้าง ภายในพระที่นั่งวสันตพิมาน เครื่องอาวุธ ภายในพระที่นั่งปฤษฏางคภิมุข เครื่องมุก ภายในพระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข ผ้าและเครื่องแต่งกาย ภายในพระที่นั่งพรหมเมศธาดา และเครื่องดนตรี ภายในพระที่นั่งบูรพาภิมุข ที่ต้องระบุรายละเอียดชื่อสถานที่มายืดยาวเช่นนี้ ก็เพราะต้องการตอกย้ำให้ผู้รับผิดชอบเกิดความตระหนักและมีจิตสำนึกว่า พื้นที่จัดแสดงในแต่ละส่วนเป็นพื้นที่สำคัญในระดับ “พระที่นั่ง” อันหมายความถึง เรือนหรืออาคารที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งควรได้รับการดูแลรักษาอย่างดี เพราะเป็นสถานที่สำคัญหรือเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้ชมระลึกถึงพระเจ้าแผ่นดินไทยที่ไม่ว่าจะเป็นพระองค์ใดและมีฐานันดรยศศักดิ์ในระดับใด ก็ควรที่จะได้รับถวายเฉลิมพระเกียรติด้วยการให้ความเคารพสักการะอย่างสูงสุดเสมอ แต่การเข้าชมในครั้งนี้พบว่า บริเวณพระที่นั่งทุกองค์ที่ระบุมานี้ปราศจากการดูแลรักษาทั้งในฐานะที่เป็น “พระที่นั่ง” และทั้งในฐานะที่เป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เพราะนอกจากตัวอาคารจะมีสภาพทรุดโทรมขาดการซ่อมแซมบำรุงรักษาแล้ว ภายในตู้เก็บโบราณวัตถุต่างๆ ทั้งบนหลังตู้จัดเก็บ กระจกของตู้จัดเก็บ ไฟที่ใช้ส่องสว่างภายในตู้ ล้วนแล้วแต่ขาดการปัดกวาดเช็ดถูฝุ่นให้สะอาดทั้งสิ้น ยังไม่รวมถึงการขาดการนำความรู้ทางเทคนิคหรือวิธีการจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับการรักษาให้โบราณวัตถุต่างๆมีอายุยืนยาวไม่เสื่อมสภาพมาใช้ในการเก็บรักษา ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิที่เหมาะสม และการป้องกันการสูญหายของโบราณวัตถุต่างๆอีกด้วย
ครบฝุ่นหนาบนตู้ไม้รดน้ำลายทองที่ตั้งอยู่ชั้นล่างของพระที่นั่ง
หากจะบรรยายด้วยคำพูดเชิงพรรณนาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ก็ต้องอธิบายประกอบว่า ระหว่างเดินขึ้นชั้นบนของพระที่นั่งเมื่อมองลงมายังชั้นล่างจะพบเห็นฝุ่นบนตู้ลายทองรดน้ำเก่าแก่หลายใบมีฝุ่นจับหนามาก สภาพตู้เกือบทุกใบที่เป็นกระจกจะขุ่นมัวจนทำให้สิ่งของที่อยู่ภายในตู้ดูหมดคุณค่าลง ไฟที่ไม่สว่างหรือไม่มีในตู้หลายใบทำให้สิ่งของในตู้ไม่น่าสนใจเทียบเท่ากับคุณค่าของความเป็นมาของสิ่งของนั้นๆ นอกจากนี้ยังไม่มีห้องจัดแสดงใดมีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ไม่ใช่เพียงเพื่อต้องการให้ผู้เข้าชมเกิดความสบายสามารถเดินชมได้อย่างมีสมาธิได้ซึมซับอรรถรสท่ามกลางอากาศในเดือนเมษายนที่ร้อนจัดเท่านั้น แต่หมายถึงการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อดูแลรักษาโบราณวัตถุเหล่านั้นไม่ให้เสื่อมสภาพ เช่น การเก็บรักษาเครื่องไม้ที่เกี่ยวกับเครื่องดนตรีต่างๆที่ความร้อนจะมีผลต่อการยืดหดของไม้จนทำให้วัสดุที่ทำจากไม้โก่งและหักได้ในที่สุด ยังไม่ต้องคำนึงถึงสภาพว่าจะสามารถใช้บรรเลงได้จริงหรือไม่ หรือการเก็บรักษา “ผ้าเขียนทอง” ซึ่งการเก็บรักษาผ้าโดยทั่วไปก็ต้องใช้วิธีการเฉพาะเพื่อให้พ้นจากการกัดแทะของพวกมดหรือปลวกแล้วยังต้องระมัดระวังมิให้สีของทองคำหมองหรือกลายสภาพไปอีกด้วย จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลได้รับข้อมูลว่า การออกแบบห้องจัดแสดงผ้าได้กำหนดแบบไว้ว่าจะให้มีการติดเครื่องปรับอากาศจึงได้ทำฝ้าเพดานไว้ต่ำเพราะเพดานเดิมสูงเนื่องจากเป็นอาคารพระที่นั่งเก่า แต่ภายหลังก่อสร้างเสร็จก็ไม่มีงบประมาณติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพราะไม่สามารถรับภาระค่าไฟได้
ตู้จัดเก็บผ้ากราบที่ช่องบนซ้ายมือกระจกแตกและไม่มีผ้าแสดง
นอกจากนี้ยังพบว่า ตู้กระจกที่ใช้จัดเก็บ “ผ้ากราบ” ที่คนรุ่นหลังอาจไม่ได้รู้จักหรือพบเห็นอีกแล้วบางช่องกระจกที่ใช้ปิดกั้นและผ้ากราบหายไป บางช่องมีกระจกปิดครบแต่ไม่พบผ้ากราบจัดแสดงตามที่ควรจะมีเต็มทุกช่อง (เข้าใจเองว่าอาจเกิดการสูญหายไป) จากคำพรรณนาที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น สรุปได้ว่า การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้นอกจากจะไม่สามารถทำให้ผู้เข้าชมซึมซับและรับรู้ถึงความภาคภูมิใจ เข้าใจในรากเหง้าของความเป็นชาติไทยหรือมองเห็นถึงคุณค่าของบุคคลที่พิพิธภัณฑ์มุ่งประสงค์จะนำเสนอจนถึงเกิดความประทับใจได้แล้ว ยังก่อให้เกิดความรู้สึกสลดหดหู่ใจและเกิดความอับอายชาวต่างชาติเกินกว่าจะแนะนำสถานที่นี้ว่า “พิพิธภัณฑ์” จนต้องหาคำนิยามให้ตามสภาพที่เป็นเสียใหม่ว่า "โกดังเก็บของแห่งชาติ" ค่าเข้าชมที่มีการเก็บคนไทย ๓๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท ก่อนเข้าชมรู้สึกว่าเป็นอัตราที่ถูกมาก กลับกลายเป็นความเสียดายเงิน เพราะไม่มีใครควรต้องถูกเรียกเก็บเงินเพื่อเข้าไปดูโกดังเก็บของที่มีสภาพไม่เจริญตาเจริญใจอย่างที่เล่ามาแล้วทั้งหมดข้างต้น
ด้านล่างของตู้ไม้ที่มีป้ายอธิบายข้อความซึ่งอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม
บทความนี้เขียนขึ้นในฐานะ “คนไทย” ตัวเล็กๆคนหนึ่ง แต่มีหัวใจรักและหวงแหนในโบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ยิ่งใหญ่ จึงไม่สามารถนั่งมองให้เรื่องนี้ผ่านไปด้วยการละเลย นิ่งเฉย ไม่ใส่ใจในหน้าที่ของผู้รับผิดชอบ เพราะเท่ากับผู้เขียนสนับสนุนให้เกิดการละเลย นิ่งเฉย ไม่ใส่ใจ ต่อการทำลายหรือทำร้ายความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยของคนไทย ที่มีรากเหง้า ศิลปะตลอดจนวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกอิจฉา เพราะทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของมนุษย์นั้น เมื่อใดที่เกิดมีขึ้นแล้วแต่ไม่ได้รักษาไว้ ครั้นเมื่อถึงคราวถูกทำลายหรือสลายสิ้นไป ก็จะไม่สามารถแสวงหาหรือสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทนกันได้อีกเลย
โปรดช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องเพื่อให้ผู้รับผิดชอบเข้าไปดูแลจัดทำ “โกดังเก็บของแห่งชาติ” เสียใหม่ให้สมกับการเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museum)” ที่คนไทยทุกคนจะภาคภูมิใจได้ตลอดไป