เปิดแถลงการณ์ศอ.รส.ซัด "บวรศักดิ์" สถาปนาศาลรธน.ให้เป็น "รัฎฐาธิปัตย์"
"เป็นการยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้อยู่เหนือองค์กรอื่น โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการโดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่ฝ่ายตุลาการเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น"
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา “ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับ 3 เรื่อง “ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญและกลุ่มผู้สนับสนุน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย”
ข่าวตามหน้าสื่อมวลชนที่นำเสนอส่วนใหญ่ “ศอ.รส.” จะโจมตีการทำงานของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” พร้อมทั้งพยายามชี้ให้เห็นว่าจะมีการชุมนุมขัดแย้งรุนแรง
ทว่ายังมีแถลงการณ์บางส่วนที่ “สื่อ” แทบที่จะไม่นำมาเผยแพร่ คือกรณีที่ “ศอ.รส.” โจมตีการทำงานของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงขอหยิบเนื้อหา-ถ้อยคำ จากแถลงการณ์ “ศอ.รส.” มาเผยแพร่เพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวจากฝากฝั่งวิชาการ โดยเฉพาะตัว “บวรศักดิ์” ที่ “มือกฎหมายเพื่อไทย” ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด
“ศอ.รส.” ระบุว่า “จากการที่มีนักวิชาการคือนายบวรศักดิ์ ได้กล่าวอภิปรายในโครงการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ 16 ปีศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่า การยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์กฎหมาย ควบคุมกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง”
“ศอ.รส.” มองว่า คำอภิปรายดังกล่าวเห็นได้ว่า มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ และยืนกรานให้องค์กรอื่น ต้องเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
“แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในปี 2542 นายบวรศักดิ์ กลับอธิบายเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในวารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 1 เล่มที่ 1 ว่า หากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ในทางการเมืององค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ”
“หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตนจนทำลายเขตอำนาจของศาลอื่นหรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจมีการดุลคานกัน ศาลแต่ละศาลเป็นใหญ่ในเขตอำนาจของตนไม่ได้ขึ้นต่อกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้วนั้นจึงจะผูกพันศาลอื่น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความผูกพันต่อศาลอื่นก็ไม่มี” ศอ.รส. ระบุ
“ศอ.รส.” ระบุต่อว่า "เห็นได้ว่าคำกล่าวของนายบวรศักดิ์ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง และเห็นได้ชัดว่านายบวรศักดิ์ มีแนวคิดและความมุ่งหมายเป็นการแสดงความรับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญ และบังคับให้องค์กรอื่นที่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญดุจเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญต้องยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้อยู่เหนือองค์กรอื่น โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการโดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่ฝ่ายตุลาการเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น"
"ในขณะที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นการปูทางสู่คำวินิจฉัยที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมือง ตามที่กลุ่ม กปปส.และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีการอ้างมาตรา 3 และมาตรา 7” ศอ.รส.ระบุ
“ศอ.รส.” ระบุต่อว่า ในขณะที่กลุ่มนปช. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินจากรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้าและการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันและก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว
ทั้งหมดคือเนื้อหาในแถลงการณ์ “ศอ.รส.” ฉบับที่ 3 ที่มีเนื้อหาบางช่วงบางตอนพุ่งโจมตีการแสดงความคิดเห็นของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”