ไพบูลย์ VS วีรพัฒน์ : “มาตรา 3 - เลือกตั้ง” ทางออก “นายกฯ คนใหม่ ?”
"ฝ่ายหนึ่งมองว่าต้องแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ โดยเร็วผ่านมาตรา 3 ส่วนอีกฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งเท่านั้นคือกระบวนการในการได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่...ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นต่างจึงยังคงปรากฏชัดอย่างท้าทายสังคมไทย"
ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีพ้นสภาพความเป็นรัฐมนตรี จากคดีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไม่รอช้า ต่อสายตรงสัมภาษณ์มือกฎหมายจาก 2 ฟากความคิด คือนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาและเป็นผู้ลงชื่อร่วมกับ ส.ว. อีก 28 คน เข้าชื่อต่อประธานวุฒสภาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ
ทั้งคู่มีมุมมองที่แตกต่างอย่างน่าสนใจต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นสำคัญต่อไปนี้
ไพบูลย์ นิติตะวัน
@ความรู้สึกต่อคำวินิจฉัย
“ผมพอใจ กับคำวินิจฉัยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมชื่นชมที่มีการเขียนคำวินิจฉัยที่ทำให้เกิดความชัดเจน ศาลท่านก็เห็นด้วยกับคำร้องอยู่หลายส่วน และนำไปประกอบการพิจารณาด้วย และมีเสียงเป็นเอกฉันท์ ก็เป็นความภูมิใจ”
กรณี ครม.สิ้นสุดเฉพาะตัว แต่ไม่พ้นตำแหน่งทั้งคณะ
“ตอนนี้ไม่มีนายกฯ ก็ต้องแต่งตั้ง นายกฯ ขึ้นมา ตอนนี้ ก็เรียกได้ว่าเกิดสุญญากาศกับตำแหน่งนายกฯแล้ว
ในตอนนต้นศาลก็พูดถึงการแต่งตั้งนายกฯ ตาม มาตาร 172 – 173 โดยเร็ว
"ดังนั้น การที่รัฐบาลและครม. ชุดนี้มารักษาการครั้งนี้ ต่างจากคราวที่ยุบสภา ครั้งนี้ ไม่มีนายกฯ แล้ว เพราะไม่ใช่การยุบสภาแล้ว เป็นการพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการกระทำผิด ดังนั้น จะไปหยุดยั้งกระบวนการหานายกฯ คนใหม่ไม่ได้"
@เมื่อ “นิวัฒน์ธำรง” ขึ้นแท่น เป็น “รักษาการนายกฯ ”
“ยังเป็นได้ตาม พรบ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 10 แต่ก็ทำได้เพียงแค่ระหว่างรอ นายกฯ คนใหม่ ถ้าจะบอกว่า ไม่ต้องรอนายก คนใหม่ นั้น ไม่มีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราใด เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของ ครม. ชุดนี้ ที่จะมาบอกว่าไม่ต้องหานายกฯ คนใหม่"
"กรณี คุณนิวัฒน์ธำรง เป็นเพียงรักษาการเพื่อให้มีการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ไม่ใช่รักษาการเพื่อรอให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งนายกฯ คนใหม่นั้น ต้องเป็นเหตุจากการยุบสภา และมีการเลือกสภา แต่กรณีเหตุแบบนี้ไม่มีตัวนายกฯ อยู่แล้ว ก็ต้องแต่งตั้ง นายกฯ โดยเร็ว"
@กระบวนการได้มา ซึ่ง นายกฯ คนใหม่
ตอนนี้ แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คือแนวทางของกำนันสุเทพ คือ มาตรา 3 ต้องดูว่าเขาจะเดินหน้าอย่างไร
เพราะตอนนี้เมื่อรัฐบาลมีปัญหา ไม่มีหัวหน้ารัฐบาล ไม่มีฝ่ายบริหาร ทางคุณสุเทพก็ถือว่าอำนาจกลับคืนมาสู่ประชาชน และสภาฯ ชุดนี้มีปัญหา ก็ขอใช้อำนาจตามาตรา 3 ให้อำนาจกลับเป็นของประชาชน นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นไปได้ หรือแนวทางของรัฐบุคคล, แนวทางของหลวงปู่พุทธะอิสระก็เป็นแนวทางหนึ่ง, หรือแนวทางให้วุฒิสภาพิจารณาดำเนินการก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ดังนั้น ก็มีอยู่หลายแนวทางที่จากนี้คงจะมีการพูดคุยกัน แนวทางอื่นๆ ที่เหลือ ก็อาจจะเข้ามาตรา 7 ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตอนนี้ สังคมไทยรู้แล้วว่าต้องมีนายกฯ คนใหม่ โดยเร็ว เพื่อให้มีคณะรัฐมนตรีใหม่มาแก้ไขปัญหาประเทศ”
….
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
@ความรู้สึกต่อคำวินิจฉัย
“ในภาพรวมผมคิดว่า ศาลกำลังสร้างสถานการณ์การเมืองที่คล้ายคลึงกับปี พ.ศ.2551 สมัยที่คุณสมัคร ( สุนทรเวช ) ถูกวินิจฉัยพ้นจากตำแหน่ง แน่นอนว่าคดีไม่เหมือนกัน แต่ผลทางคดีนั้นเหมือนกันคือทำให้นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง นำไปสู่สถานการณ์ล้มรัฐบาลรักษาการ แม้หากมีการเลือกตั้งก็จะไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น ผมว่าถ้าวันนี้ เราไม่คุยกันว่าต้องกลับมาสู่กติกา จะนำไปสู่การนองเลือด ความขัดแย้งจะรุนแรงเหมือนเมื่อเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549"
@กรณี ครม.สิ้นสุดเฉพาะตัว แต่ไม่พ้นตำแหน่งทั้งคณะ
“ในประเด็นที่ 2 นี้ ผมเห็นว่ามีส่วนที่ถูกต้อง นั่นคือการวินิจฉัยว่าครม. จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากจะสิ้นสุดก็สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ส่วนนี้ผมรับฟังได้ แต่ที่ส่วนผมไม่เห็นด้วย คือส่วนที่ศาลกล่าวถึงหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ชัดเจน กรณีคุณสมัคร (สุนทรเวช ) ก็ไม่ชัดเจน ส่วนกรณีนี้ การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หมายความว่าอย่างไร แล้วศาลไปใช้คำว่า “จึงเชื่อได้ว่า” ถามว่านี่เป็นธรรมแล้วหรือ ที่ทำให้ประมุขฝ่ายบริหารต้องออกจากตำแหน่งด้วยอำนาจตุลาการ ด้วย “ความเชื่อ”
“ประเด็นต่อมา ที่น่าเป็นห่วงและอันตรายคือ จากนี้ ฝ่ายใดก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ขอเพียงคุณส่งคนของคุณไปประจำตำแหน่งข้าราชการ ตามกระทรวงต่างๆ แล้วหากรัฐบาลทำการแต่งตั้งโยกย้ายก็อาจจะเกิดการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเช่นครั้งนี้ เราอาจจะเกิดระบอบที่ปกครองโดยข้าราชการบวกกับศาล จะมีอำนาจต่อรองกับรัฐบาล ดังนั้น จากนี้ใครจะถูกย้ายก็จะยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกันหมด ผมไม่ได้ บอกว่าศาลทำไม่ได้นะ แต่ถ้าศาลมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน มีหลักการยืนยัน มัดแน่นนั้น ศาลทำได้ แต่ถ้าศาลไม่มีหลักการที่ชัดเจน ข้าราชการจะมีอำนาจกว่า รัฐบาลและความขัดแย้งจะฝังรากลึกไปกันใหญ่”
@เมื่อ “นิวัฒน์ธำรง” ขึ้นแท่น เป็น “รักษาการนายกฯ ”
“ตอนนี้ ทางออกคือรัฐบาลก็ทำถูกต้องแล้ว ว่าใครจะมาทำหน้าที่แทน เพราะเราควรจะต้องมาปรึกษากันว่าเราจะเดินหน้าว่าจะบริหารอย่างไร ไม่งั้นมันจะกลับไปสู่ ปี พ.ศ.2551-2553 คือเป็นบรรยากาศที่ล้มสมัคร-สมชาย (วงศ์สวัสดิ์ ) แล้วได้รัฐบาลอะไรมาก็ไม่รู้แล้วก็ต้องไปนองเลือดกันบนท้องถนน”
@กระบวนการได้มา ซึ่งนายกฯ คนใหม่
“ในความเห็นของผม ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าคณะรัฐมนตรีต้องปฏบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีนายกฯ คนใหม่ ซึ่งวิธีการเดียวที่จะมีนายกฯ คนใหม่ ก็คือการเลือกตั้งเท่านั้น เป็นวิธีเดียว คือนายกฯ ที่ได้ต้องมาจากการเลือกตั้ง การใช้ สว. หรืออะไร ก็ตาม ก็จะทำให้ทุกอย่างปะทุ วันนี้ ไหนๆ เมื่อคุณยิ่งลักษณ์ ก็ไปแล้ว เรามาประณีประนอมกันใหม่ดีไหม ด้วยการคืนกลับสู่กติกาคือการเลือกตั้ง เพราะบรรยากาศตอนนี้สุ่มเสี่ยงที่จะซ้ำรอยปี 2553 ตอนนี้ ถ้าคุณ ล้มรัฐบาล แล้วคุณสร้างกติกาที่ดีขึ้นมาไม่ได้ ก็เสี่ยงที่จะกลับไปนองเลือดใหม่อีกครั้ง”
….
ความเห็นต่างที่น่าสนใจคือ ฝ่ายแรกมองว่าต้องแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ โดยเร็ว ผ่านมาตรา 3, มาตรา 7 หรือแนวทางอื่นๆ ตามที่กปปส.และแนวร่วมเสนอ
ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งเท่านั้น คือกระบวนการที่เหมาะสมในการได้มาซึ่งนายกฯ คนใหม่
ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นต่างจึงยังคงปรากฎชัดอย่างท้าทายสังคมไทย!