‘ประพัฒน์’ หนุนล่า 1 ล้านชื่อ ผลักดันกม.ภาคประชาชน 4 ฉบับ
เครือข่ายภาคประชาชน-ประชาสังคมหนุนล่า 1 ล้านรายชื่อ ผลักดันกม.ภาคประชาชน 4 ฉบับ ธนาคารที่ดิน-ภาษีที่ดิน-โฉนดชุมชน-กองทุนยุติธรรม ‘ประพัฒน์’ ชี้อาจไม่ราบรื่น เหตุการเมืองขัดขวาง แนะตั้งทำงานร่วมคปก.แก้ไขร่างกม.อีกรอบ หวังฉลุยเข้าสภาฯ ทันทีหลังได้รัฐบาลใหม่
วันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก จัดแถลงข่าว ‘ผลักดันร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่ดินและทรัพยากร 4 ฉบับ’ มีรายละเอียด ดังนี้
จากการร่วมกันถกเถียง แลกเปลี่ยน เนื้อหาของร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า, ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ได้เห็นพ้องร่วมกันว่าเนื้อหาในร่างกฎหมายจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมให้คนจนคนชายขอบได้เข้าถึงสิทธิในที่ดินอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือประกันความยุติธรรมได้อย่างดี
ดังนั้น จึงขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ด้วยการรณรงค์ร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ
1.พวกเราตระหนักร่วมกันว่า มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยการมีที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ซึ่งที่ผ่านมาทรัพยากรที่ดินมีมากเพียงพอที่จะให้พวกเรามีชีวิตได้อย่างมั่นคง ตราบจนกระทั่งที่ดินได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า เกิดการผูกขาดเก็งกำไร กักตุนและปล่อยทิ้งร้าง อันเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตรกรผู้ยากไร้และคนจนไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ผู้ยากไร้และคนด้อยโอกาสต้องเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐและเอกชนอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี
2.ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน แต่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมามักขาดความต่อเนื่อง และที่สำคัญขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ประชาสังคม ที่เป็นเจ้าของปัญหา จึงทำให้การแก้ไขปัญหาที่ดินไม่ประสบความสำเร็จ เราจะร่วมกันแก้ไขจุดบกพร่องนี้ด้วยการผลักดันร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับ ให้เป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการกระจายการถือครองที่ดินและการจัดการทรัพยากร
3.พวกเรามั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ. 4 ฉบับนี้จะสามารถกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เป็นการปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ
-พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดการแบ่งปัน และกระจายความมั่นคั่งจากผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากไปสู่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส
-พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนให้เกษตรกรและคนยากจนได้มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย โดยให้เกษตรกรหรือคนยากจนกู้ยืมเพื่อซื้อ ไถ่ถอน ปรับปรุง พัฒนา และจัดหาที่ดินโดยการจัดซื้อ การเวนคืนที่ดินที่มีสภาพเหมาะสมกับเกษตรกรรม
-พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ ผูกขาดอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐมาสู่ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมสำนึกร่วมอันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
-พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ในการช่วยเหลือ เยียวยา และสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ยากไร้ จำเลย และผู้เสียหาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่น ค่าประกันตัว ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าเดินทาง และอื่น ๆ เพื่อให้การพิจารณาช่วยเหลือเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
“เครือข่ายองค์กรประชาชน ประชาสังคม และองค์กรภาคี 18 องค์กร จึงมีฉันทมติและขอประกาศเจตนารมณ์ ‘สร้างประชาธิปไตยที่กินได้ ด้วยการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับ’ โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘ร้อยคนเริ่ม หมื่นคนสู้ แสนคนรู้ ล้านคนร่วม’ ” แถลงการณ์ระบุ
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายภาคประชาชน 4 ฉบับ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ยิ่งเป็นกฎหมายของคนจนด้วยแล้วยิ่งผลักดันยาก ฉะนั้นจึงต้องวางแผนให้รอบคอบ ซึ่งการเปิดเวทีพูดคุยครั้งนี้เป็นเพียงการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าไม่สามารถจะผลักดันให้เกิดขึ้น 100% เพราะยังมีรายละเอียดบางประการไม่ถูกพูดถึง
"ส่วนตัวจึงเสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด ทำงานร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อมีรัฐบาลชุดใหม่จะได้นำเสนอสู่สภาผู้แทนราษฎรทันที ทั้งนี้ อาจจะไม่ราบรื่นนัก ด้วยฝ่ายการเมืองจะเป็นอุปสรรคขัดขวาง สิ่งที่สำคัญ จึงต้องรวบรวมรายชื่อสนับสนุนให้ได้ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. แต่หากยังไม่มีการยกร่างอีกจะต้องกลับมาพูดคุยกัน"