ศาลรธน.เอกฉันท์ฟัน"ยิ่งลักษณ์"ย้าย"ถวิล"เอื้อญาติ-ครม.วันลงมติหลุดทั้งยวง
"ศาลรธน." มติเอกฉันท์ฟัน "ยิ่งลักษณ์" สิ้นสภาพนายกฯ คดีโยกย้าย "ถวิล" พ่วง ครม.ที่ลงมติ 6 ก.ย. 2554 ชี้ก้าวก่ายแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้าย แม้ไม่ได้เป็นคนเริ่ม ยกหลักฐานหนังสือเห็นชอบสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งก่อนที่ "กฤษณา" จะเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2556 เวลา 12.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรี ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมาเวลา 12.20 น. นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยคดี ระบุว่า เมื่อมีการยุบสภาและรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่ง การพ้นจากต่ำแหน่งดังกล่าวยังไม่พ้นจากตำแหน่งเป็นเด็ดขาด เพราะต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป การพ้นจากตำแหน่งของผู้ถูกร้องในคดีนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 181 ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่จะทำหน้าที่
นายเฉลิมพล กล่าวต่อว่า เมื่อผู้ร้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับไว้วินิจฉัย ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับไว้วินิจฉัย
"ผู้ถูกร้องได้ร่วมประชุมครม.และลงมติอนุมัติให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่ง และได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ให้นายถวิลไปปฏิบัติตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อข้อเท็จจริงระบุว่าผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องหลายอย่าง ย่อมเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำอยู่แล้ว หาจำเป็นผู้เริ่มโดยตรงหรือไม่" นายเฉลิมพล กล่าว
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี กล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำถือเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐ และต้องสอดคล้องกับระบบธรรมาภิบาล โดยใช้หลักความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในตำแหน่งนั้น เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมือง ซึ่งจะนำความคิดเห็นทางการเมืองมาประกอบการพิจารณาไม่ได้ จะกระทำตามอำเภอใจโดยมีวาระซ่อนเร้นไม่ได้ การดำเนินการดังกล่าวมีผลให้นายถวิล พ้นจากเลขาธิการสมช. ถือเป็นการใช้สถานะนายกฯเข้าไปก้าวก่ายแซง แทรกการแต่งตั้งนายถวิลหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าผู้ถูกร้องได้เข้าไปมีส่วนกระทำการเกี่ยวข้องให้นายถวิล พ้นจากเลขาธิการสมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ
"โดยมีกระบวนการจากหนังสือสำนักเลขาธิการนายกฯ ลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ถึงพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ระบุว่าสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบการรับโอนแล้ว แต่กลับมีหนังสือจากน.ส.กฤษณา สีหะลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบการรับโอนในวันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่งไม่ตรงกับหนังสือที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นไปตามระบบปกติ แม้ต่อมาวันที่ 5 กันยายน 2554 น.ส.กฤษณาจะให้ความเห็นชอบก็ตาม และวันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ แต่การมีหนังสือถึงน.ส.กฤษณา และพล.ต.อ.โกวิท ให้เห็นชอบโอนนายถวิล ซึ่งกระทำแค่ 4 วัน เป็นการกระทำโอนรวบรัด กระทำเอกสารอันเป็นเท็จมีพิรุธ ส่อแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นปกติ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการกระทำเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นตำแหน่งผบ.ตร. การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ด้วย" นายอุดมศักดฺิ์ กล่าว
นายอุดมศักดิ์ กล่าววต่อว่า ปัจจัยอันเป็นที่มาการโอนนายถวิล คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการสมช.ว่างลง เพื่อโอนย้ายตำแหน่งผบ.ตร. ที่พล.ต.อ.วิเชียรนั่งอยู่มาเป็นเลขาธิการสมช. อันทำให้ตำแหน่งผบ.ตร.ว่างลง และสามารถแต่งตั้งเครือข่ายของผู้ถูกร้องมาแทนได้ และอายุราชการเหลืออีก 2 ปี ซึ่งมากกว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ซึ่งเหลืออายุราชการ 1 ปี ก็จะต้องมีการโอนให้พล.ต.อ.วิเชียรไปดำรงตำแหน่งอื่นแทน
"แม้พล.ต.อ.วิเชียร จะระบุว่าไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสมช.ด้วยความสมัครใจ แต่ก็ได้ให้ปากคำว่าอยากเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผบ.ตร. แต่ไม่ยึดติดกับตำแหน่งข้ารากชาร พร้อมที่จะไปดำรงตำแหน่งอื่นหากผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ แสดงให้เห็นว่าการติดสินใจของพล.ต.อ.วิเชียร ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา คือผู้ถูกร้องด้วย" นายอุดมศักดิ์ กล่าว
นายอุดมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต่อมามีการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) ผู้ถูกร้องเสนอชื่อพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็นผบ.ตร. จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองในทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นคือพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อันเป็นการแทรกแซง อันเป็นที่รู้กันว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นพี่ชายของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้ถูกร้อง
"เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เป็นผลเดียวกันกับการแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ขึ้นเป็นผบ.ตร. อันมีประโยชน์ซ่อนเร้น ก้าวก่ายการแต่งตั้งโยกย้าย อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ การโอนนายถวิลจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อโต้แย้งผู้ถูกร้องที่ระบุว่าไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการแต่งตั้ง เห็นว่าแม้เพียงเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงผู้อื่นยังไม่ให้กระทำ แต่การเข้าไปกระผิดเสียเอง ถ้าไม่ได้กระทำโดยสุจริตหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ย่อมไม่ใช่การกระทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้รับยกเว้นให้กระทำได้" นายอุดมศักดิ์ กล่าว
นายจรูญ อินทรจาร กล่าวว่า ในคดีนี้เมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ครม.ทั้งคณะหมดจากตำแหน่ง อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามหากรัฐมนตรีคนใดกระทำการสิ้นสุดลง ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้น การแต่งตั้งต้องผ่านครม. ดังนั้นรัฐมนตรีที่เข้าลงมติในวันนั้นด้วย ย่อมเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่า
"ศาลรัฐธรรมนูญมติเอกฉันท์ ใช้สถานะรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงข้าราชการ จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงส่วนตัว และคณะรัฐมนตรีที่ลงมติจึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัวไปด้วย" นายจรูญ กล่าว