พบบท บก.สื่อ 11 ฉบับเขียนแนะทางออกสถานการณ์ความขัดแย้งมากสุด
มีเดียมอนิเตอร์ เผยผลศึกษา บทบรรณาธิการ นสพ.รายวัน 11 ฉบับ พบนอกจากนำเสนอประเด็นทางการเมืองแล้ว 'จำนำข้าว - คอร์รัปชั่น' รัฐบาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากสุด และส่วนใหญ่ไม่มีการเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน นอกจากขอให้คู่ขัดแย้งหันหน้าเจรจากัน
วันที่ 6 พฤษภาคม มีเดียมอนิเตอร์ในฐานะหน่วยงานเฝ้าระวังสื่อ นำเสนอผลการศึกษาวิเคราะห์บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน 11 ฉบับ ในช่วงวันที่ 13 มกราคม ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง 3 เหตุการณ์ ได้แก่ ผู้ชุมนุม “กปปส.” ประกาศชัทดาวน์กรุงเทพฯ ศอ.รส.ประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) และ การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป โดยจุดมุ่งหมายหลัก คือ เพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเกี่ยวข้องในประเด็นทางการเมือง รวมทั้ง ลักษณะการนำเสนอของบทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสด คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ ไทยโพสต์ โพสต์ทูเดย์ แนวหน้า บ้านเมือง และ สยามรัฐ
ผลการศึกษา บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน 11 ฉบับ จำนวนทั้งสิ้น 189 ชิ้น สรุปได้ดังนี้
ด้านประเด็นการนำเสนอ พบว่า ประเด็นที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง และปัญหาทางการเมืองของกลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มีมากที่สุด (54 ชิ้น) รองลงมาคือประเด็นการเลือกตั้งล่วงหน้า และการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.2557 ( 33 ชิ้น ) ตามด้วย ประเด็นความรุนแรงเกี่ยวกับการปะทะ ตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง (31 ชิ้น) โครงการรับจำนำข้าว (23 ชิ้น) กปปส.ประกาศชัทดาวน์กรุงเทพฯ (14 ชิ้น) พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (12 ชิ้น ) นอกนั้นเป็น การเมืองในประเด็นอื่นๆ (14 ชิ้น ) กับที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง (8 ชิ้น)
เมื่อวิเคราะห์บทบรรณาธิการที่ศึกษา ใน 3 ข้อหลักคือ การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเกี่ยวข้องในประเด็นทางการเมือง การจัดกลุ่มหนังสือพิมพ์ตามกลุ่มที่บทบรรณาธิการวิพากษ์วิจารณ์ และลักษณะการนำเสนอของบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ สรุปได้ ดังนี้
1.การวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเกี่ยวข้องในประเด็นทางการเมือง
ประเด็น กปปส.ประกาศชัทดาวน์กรุงเทพฯ ในภาพรวมพบ กปปส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (5 ชิ้น) คือ บ้านเมือง (3) มติชน (1) ข่าวสด(1) ตามด้วยรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ (3 ชิ้น) คือ เดลินิวส์ (2) แนวหน้า (1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส. (1 ชิ้น) คือ คมชัดลึก วิพากษ์วิจารณ์ทหาร (1 ชิ้น) คือ มติชน วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ/ ศอ.รส./ศรส. (1 ชิ้น) คือ คมชัดลึก วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มปัญญาชน/ นักวิชาการ (1 ชิ้น) คือ มติชน นอกนั้นเป็นบทบรรณาธิการที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (2 ชิ้น) คือ ข่าวสด และบ้านเมือง
ประเด็น ศอ.รส.ประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พบรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (10 ชิ้น) คือ ไทยรัฐ (3) โพสต์ทูเดย์ (3) แนวหน้า (2) มติชน (1) คมชัดลึก (1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส. (1 ชิ้น) ได้แก่ เดลินิวส์ และไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (1 ชิ้น) ได้แก่ ข่าวสด
ประเด็น การเลือกตั้งล่วงหน้าและการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.2557 พบ รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (8 ชิ้น) คือแนวหน้า (2) คมชัดลึก (2) ไทยโพสต์ (2) ชิ้น โพสต์ทูเดย์ (1) ไทยรัฐ (1) รองลงมาเป็นวิพากษ์วิจารณ์ กปปส. (7 ชิ้น) คือ มติชน (4) ไทยรัฐ (1) เดลินิวส์ (1) และข่าวสด (1) วิพากษ์วิจารณ์ กกต. (7 ชิ้น) คือ ข่าวสด (3) มติชน (2) ไทยรัฐ (1) และสยามรัฐ (1) วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส. (4 ชิ้น) คือ ไทยรัฐ (1) กรุงเทพธุรกิจ (1) บ้านเมือง (1) และคมชัดลึก (1) วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ (1 ชิ้น) ได้แก่ คมชัดลึก วิพากษ์วิจารณ์ทหาร (1 ชิ้น) ได้แก่ โพสต์ทูเดย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (5 ชิ้น) คือ เดลินิวส์ (2) กับ แนวหน้า (1) บ้านเมือง (1) และมติชน (1)
ประเด็น ความรุนแรง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปะทะ ตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมือง ในภาพรวมพบว่า ตำรวจ/ศอ.รส./ศรส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (13 ชิ้น) คือ คมชัดลึก (6) เดลินิวส์ (2) และโพสต์ทูเดย์ (2) มติชน (1) ไทยโพสต์ (1) และกรุงเทพธุรกิจ (1) วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งรัฐบาล และ กปปส. (5 ชิ้น) คือ กรุงเทพธุรกิจ (2) เดลินิวส์ (1) คมชัดลึก (1) และโพสทูเดย์ (1) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (4 ชิ้น) คือ ไทยรัฐ (1) สยามรัฐ (1) ไทยโพสต์ (1) และ โพสต์ทูเดย์ (1) วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. (2 ชิ้น) คือ ข่าวสด (1) และมติชน (1) และ วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ (2 ชิ้น) คือ เดลินิวส์ (1) และโพสต์ทูเดย์ (1) ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (5 ชิ้น) คือ สยามรัฐ (2) มติชน (2) และกรุงเทพธุรกิจ (1)
ประเด็นความขัดแย้ง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาเหตุและปัญหาของคู่ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ในภาพรวมพบรัฐบาล และ กปปส. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จำนวนใกล้เคียงกัน คือ มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส. (11 ชิ้น) เป็น กรุงเทพธุรกิจ (7) เดลินิวส์ (2) ไทยรัฐ (1) และข่าวสด (1) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (10 ชิ้น) เป็น ไทยโพสต์ (4) โพสต์ทูเดย์ (2) และแนวหน้า (2) ไทยรัฐ (1) และบ้านเมือง (1) วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. ( 9 ชิ้น) เป็น ข่าวสด (7) มติชน (1) และคมชัดลึก (1) วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มเสื้อขาว เป็นต้น (5 ชิ้น) เป็น แนวหน้า (2) ไทยรัฐ (1) เดลินิวส์ (1) และมติชน (1) วิพากษ์วิจารณ์ทหาร (2 ชิ้น) ได้แก่ บ้านเมือง (1) และโพสต์ทูเดย์ (1) วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจ/ ศอ.รส./ศรส. (1 ชิ้น) คือ บ้านเมือง นอกจากนั้นเป็นบทบรรณาธิการที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (16 ชิ้น) เป็น หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (7) สยามรัฐ (5) ข่าวสด (2) มติชน (1) และบ้านเมือง (1)
ประเด็นโครงการรับจำนำข้าว พบรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (21 ชิ้น) คือ กรุงเทพธุรกิจ (5) แนวหน้า (4) โพสต์ทูเดย์ (4) ไทยรัฐ (3) บ้านเมือง (2) เดลินิวส์ (1) สยามรัฐ (1) และไทยโพสต์ (1) นอกนั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ ปปช. (1 ชิ้น) คือ ไทยรัฐ และไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใดมี (1 ชิ้น) คือ กรุงเทพธุรกิจ
ประเด็นอื่นๆ เช่น การทุจริตคอรัปชั่น พบว่า รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด (7 ชิ้น) คือ โพสต์ทูเดย์(4) แนวหน้า(2) ไทยรัฐ (1) นอกนั้นเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น ข้าราชการฝ่ายต่างๆ (5 ชิ้น) คือ บ้านเมือง (2) สยามรัฐ (2) และไทยรัฐ (1) นอกนั้นไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใด (2 ชิ้น) ของ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
2.จัดกลุ่มหนังสือพิมพ์ตามกลุ่มที่บทบรรณาธิการวิพากษ์วิจารณ์
หากพิจารณาเฉพาะคู่ขัดแย้งหลัก ได้แก่ รัฐบาล และ กปปส. แล้ว สามารถแบ่งบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน 11 ฉบับที่ศึกษาออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้ดังนี้
1) กลุ่มหนังสือพิมพ์มติชน และข่าวสด มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. ในแทบทุกประเด็น แต่มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลค่อนข้างน้อย กล่าวคือ มติชนวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมในการออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินของรัฐบาล (1 ชิ้น) ในขณะที่ข่าวสดมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส. ในประเด็นความขัดแย้ง ด้วยสาระสำคัญ คือ ทั้งสองกลุ่มมีส่วนในการปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังในสังคม (1 ชิ้น) แต่ไม่พบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเด็นโครงการรับจำนำข้าวทั้งในข่าวสด และมติชน ในขณะที่ผลการศึกษาพบว่าบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าว
2) กลุ่มหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แนวหน้า โพสต์ทูเดย์ และไทยโพสต์ เป็นกลุ่มหนังสือพิมพ์ที่มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแทบทุกประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว แต่ไม่พบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. ยกเว้นไทยรัฐ ที่พบว่ามีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. (1 ชิ้น) และ ที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาล และ กปปส.ในประเด็นการเลือกตั้ง/การขัดขวางการเลือกตั้ง (1 ชิ้น)
3) กลุ่มหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก สยามรัฐ และบ้านเมือง เป็นกลุ่มที่มีบทบรรณาธิการที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มต่าง ๆ ไม่เฉพาะคู่ขัดแย้งหลัก คือ รัฐบาล และ/หรือ กปปส. โดยกรุงเทพธุรกิจมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งรัฐบาลและ กปปส.มากที่สุด (10 ชิ้น) คมชัดลึกมีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์ ศอ.รส./ ศรส. มากที่สุด (8 ชิ้น) ในขณะที่เดลินิวส์ และสยามรัฐ มีบทบรรณาธิการที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายใดมากที่สุด (9 ชิ้นเท่ากัน) สำหรับ บ้านเมือง มีบทบรรณาธิการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และที่วิพากษ์วิจารณ์ กปปส. กลุ่มละ 3 ชิ้นเท่ากัน
3. ลักษณะการนำเสนอของบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์
โดยหลักการแล้ว โครงสร้างของบทบรรณาธิการจะประกอบด้วย ส่วนนำ ส่วนแสดงความคิดเห็น และ ส่วนสรุป ตามลำดับ ทั้งต้องมีประเด็นหลักที่ชัดเจน ส่วนบทบาทหน้าที่ของบทบรรณาธิการ คือ เป็นพื้นที่เสรีในการนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็น อย่างเป็นเหตุเป็นผลของหนังสือพิมพ์ นอกจากนั้น บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ยังมีคุณค่าในการยกระดับความรู้ ความคิดเห็น และความคิดสร้างสรรค์ของผู้อ่าน หรือ สังคมด้วย
จากการศึกษาวิเคราะห์บทบรรณาธิการจำนวน 189 ชิ้น ของมีเดียมอนิเตอร์ในครั้งนี้ พบลักษณะการนำเสนอของบทบรรณาธิการ สรุปได้ดังนี้
โครงสร้างบทบรรณาธิการ ไม่ได้เริ่มด้วยความนำ ตามด้วยการแสดงความคิดเห็น แล้วปิดท้ายด้วยข้อสรุป
เสมอไป บทบรรณาธิการบางชิ้นอาจมีประเด็นหลัก/ หรือใจความสำคัญมากกว่า 1 ประเด็น ทั้งบทบรรณาธิการ 1 ชิ้น อาจเป็นได้ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ การแก้ต่าง การรับรอง/เห็นพ้อง หรือ มีลักษณะโน้มน้าว
บทบรรณาธิการบางชิ้น / ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ อาจไม่วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา แต่นำเสนอในลักษณะการวิเคราะห์ การให้ความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ทั่วไป
บทบรรณาธิการส่วนใหญ่ไม่ได้นำเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมชัดเจน นอกจากการเสนอให้คู่ขัดแย้งหันหน้าเจรจากัน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าบทบรรณาธิการนั้นๆ มีจุดยืนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เสมอไป
ข้อเสนอแนะ บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เป็นพื้นที่นำเสนอข้อมูลความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ ต่อสถานการณ์/เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จึงเป็นที่สนใจของกลุ่มเกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป หรือ สังคมในภาพรวม โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการทางออก ด้วยหลักการประชาธิปไตย สันติวิธี และที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ของกลุ่มขัดแย้งต่างๆ
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เช่นนี้ บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันควรใช้สิทธิเสรีภาพทางบวก ในการทำบทบาทหน้าที่ชี้แนะกลุ่มเกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริง และความคิดเห็นอย่าง ลุ่มลึก รอบด้าน มีเหตุผล น่าเชื่อถือ เพื่อแสดงจุดยืนแห่งสถานภาพความเป็นสถาบันสื่อสารมวลชน ที่สำคัญบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ควรมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาทางออกให้สังคม อย่างหลีกเลี่ยงการใช้ข้อความ/ถ้อยคำที่เป็นเท็จ มีความรุนแรง รวมทั้งที่อาจเข้าข่ายการสร้างความเกลียดชัง หรือ ขยายความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น