“ศอ.รส.” ร้องศาลรธน.วินิจฉัยคดี “ปู” ให้เที่ยงธรรม - หวั่นม็อบปะทะ
“ศอ.รส.” ออกแถลงการณ์ร้อง “ศาลรธน.” วินิจฉัยคดี “ปู” ตรงไปตรงมา ยันไม่ได้ก้าวล่วงศาล เผยกลุ่มมวลชน 2 ฝั่งรอคำพิพากษาอยู่ หากไม่เป็นไปตามรธน. อาจเป็นการขยายความขัดแย้ง เกิดการปะทะได้ วอน “นักวิชาการ – อภิสิทธิ์” ยุติบทบาทแสดงความเห็นที่เข้าใจผิด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย โดยมีข้อห่วงใยและข้อวิตกกังวลต่อการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยไม่อาจบรรลุผลได้อยู่ 6 ประการ
โดย ศอ.รส. ระบุว่า ขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงความสำคัญขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยยึดถือจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ และคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ และขอให้กลุ่มบุคคลอันได้แก่นักวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยุติบทบาทการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน
“ศอ.รส. ขอยืนยันว่า มิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากทั้งสองฝ่ายกำลังรอคอยผลการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจะเกิดความไม่พอใจขยายตัวในวงกว้างและเกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน การดำเนินการของ ศอ.รส. โดยแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องในครั้งนี้จึงเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่อันเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจละเลยเสียได้”
“อนึ่ง แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการของ ศอ.รส. โดยไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็นและดำเนินการด้วย” แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุ
ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุใจความสำคัญว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบกับมาตรา 266 และมาตรา 268 โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้น
จากการตรวจสอบพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 วินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบกับมาตรา 267 โดยศาลรัฐธรรมนูญมิได้อ้างกฎหมายแต่อ้างพจนานุกรมแล้ววินิจฉัยว่า นายสมัครฯ กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 267 เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 180 วรรคหนึ่ง (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานในกรณีดังกล่าวไว้
“ดังนั้น เมื่อคำร้องทั้งสองกรณีมีลักษณะทำนองเดียวกัน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 266 และมาตรา 268 แล้ว ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลของคำวินิจฉัยควรเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ อย่างไร หรือหากผลของคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุอีกว่า ศอ.รส. ได้รับทราบข้อมูลด้านการข่าวว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ สิ้นสุดลงตามมาตรา 181 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 266 และมาตรา 268 แล้ววินิจฉัยให้เกินเลยไปจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา 181 เพราะจากข้อมูลที่ตรวจสอบพบปรากฏว่า เรื่องการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในปี 2476 โดยในครั้งนั้นได้กระทำการด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
“ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเกินเลยไปถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่สามารถกระทำได้”
แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุด้วยว่า จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำข้อเสนอโดยอ้างว่าเป็นการทางออกประเทศไทย พร้อมกับอวดอ้างว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานการณ์ขณะนี้ แต่กลับเสนอวิธีการโดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น
ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ แท้จริงเป็นข้อเสนอเพื่อปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษางดใช้มาตรา 181 หรือพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นไปโดยถือว่าเป็นกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 181 นายอภิสิทธิ์ ย่อมรู้ดีว่า ข้อเสนอของตนเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ และขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 181
“ดังนั้น ความมุ่งหมายอันแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ จึงมีอย่างเดียวคือโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยเข้าใจผิดไปว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาพิพากษาให้เกิดสูญญากาศนั้นเป็นความเหมาะสมที่พึงกระทำได้ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ฉะนั้นข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ ที่เรียกว่าทางออกของประเทศไทย แท้จริงแล้วก็คือหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมืองแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และประการสำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญนั่นเอง”
(อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม)