คนข่าวเปิดประสบการณ์ อัพเดทเสรีภาพสื่อไทย
“อัพเดทเสรีภาพสื่อไทย ในเสรีภาพสื่อโลก” ชื่อหัวข้อสนทนา ในวาระวันเสรีภาพสื่อโลกปี 2014 ที่มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ ร่วมกับ แอมเนสตี้ ประเทศไทย จัดขึ้น ณ สำนักงานมีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน
ในเวทีมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักข่าวจากสื่อทางเลือกที่อยู่ในสภาพบ่วงรัดคอจนหายใจแทบไม่ออก อาทิ “ชุติมา สีดาเสถียร” จากเว็บไซต์ Phuket Wan “เทวฤทธิ์ มณีฉาย” จากสำนักข่าวประชาไท และผู้ที่คอยดูแลเสรีภาพสื่อ อย่าง “กุลชาดา ชัยพิพัฒน์” จากสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ (SEAPA : ซีป้า) โดยมี “สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี” บรรณาธิการข่าวภูมิภาค เดอะเนชั่น ดำเนินรายการ
“ชุติมา” บอกเล่าถึงประเด็นปัญหาที่เว็บไซต์ Phuket Wan ประสบว่า ได้มีการนำเสนอข่าวการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา โดยมีเจ้าหน้าที่ในกองทัพเรือมาเกี่ยวข้อง ซึ่งมีเบื้องลึกถึงสิทธิมนุษยชนและการคอรัปชั่นเกิดขึ้นโดยเป็นการอ้างอิงจากสำนักข่าวรอยเตอร์
แต่แทนที่ทางกองทัพเรือจะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ในสังกัด กลับฟ้องร้องดำเนินคดีกับเว็บไซต์Phuket Wan ในข้อหาหมิ่นประมาทและมีความผิดทางพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคดีทางอาญา
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ข่าวนี้มีการเผยแพร่ในสื่อหลายแขนงมาก แต่ทางกองทัพเรือเลือกที่จะเล่นงานเว็บไซต์นี้เพียงรายเดียว หรือไม่อาจเห็นว่า เป็นเพียงสื่อทางเลือกเล็กๆ ที่เหมาะแก่การเชือดไก่ให้ลิงดู?
“เราทำหน้าที่สื่อ เรามั่นใจในข้อมูลที่ได้มา รวมถึงมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลระดับโลกขนาดนี้ได้ แต่รัฐกลับเลือกใช้กฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเพื่อมาปิดปากสื่อมากกว่าตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของตัวเอง” ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ Phuket Wan กล่าว
ซึ่งทางเว็บไซต์นี้ได้สู้ในคดีความ โดยอ้างสิทธิในการสื่อสารอย่างเสรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการใช้กฎหมายที่ถือเป็นการคุกคามสื่อของอีกฝ่าย
หากเราวิเคราะห์ดูแล้ว ถ้าทางเว็บไซต์ Phuket Wan แพ้คดี จะส่งผลอย่างมากในการทำข่าวของสื่อมวลชนไทย เนื่องจากรัฐสามารถใช้กฎหมายลักษณะเดียวกันในการปิดปากสื่อให้เงียบได้โดยไม่ต้องตรวจสอบการดำเนินการของรัฐเอง
ด้าน “เทวฤทธิ์” เล่าถึงช่วงเวลาที่ไปทำข่าวกรณีแบนรายการตอบโจทย์ประเทศไทยและถูกกีดกันจากกลุ่มเรียกร้องอย่างสุดฤทธิ์
“ผมไปรายงานข่าวนี้ที่ไทยพีบีเอส โดนป้าๆ ที่มาต้านผลักออกไปโดยหาว่า เป็นพวกเดียวกับโอ๊ค (พานทองแท้ ชินวัตร) ซึ่งก็ชี้แจงว่า เป็นสื่ออยู่สำนักข่าวประชาไท กลายเป็นว่า ยิ่งตอกย้ำความเชื่อและอคติเข้าไปใหญ่” นักข่าวหนุ่มจากประชาไท เล่าประสบการณ์ทำงานท่ามกลางความบีบคั้น
ก่อนจะอ้างงานของศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องความรุนแรงต่อสื่อมวลชน ที่มีอยู่สามระดับ คือ
1.ระดับกายภาพ ได้แก่ การใช้อาวุธ การทำร้ายคุกคามตัวผู้สื่อข่าว ซึ่งเห็นได้ชัดจากการชุมนุมของทั้งสองขั้วการเมืองในปัจจุบันที่จ้องครอบงำสื่อให้ได้
2.ระดับโครงสร้าง คือการรายงานข่าวอย่างฉาบฉวยเพื่อป้อนข้อมูลให้ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มจนอาจสร้างความขัดแย้งมากขึ้น
และ 3.ระดับวัฒนธรรมและอุดมการณ์ คือการถูกครอบงำด้วยกรอบความคิดจนไม่สามารถแตะต้องได้ นั่นคือเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จนทำให้เกิดการใช้อำนาจกดสื่อ เช่น กรณีการแบนรายการตอบโจทย์ประเทศไทยนั่นเอง
ทั้งนี้ “เทวฤทธิ์” เผยด้วยว่า ทางประชาไทเองเจอภาคประชาชนที่มีอุดมการณ์ตามหลักการของรัฐเข้าคุกคามบ่อยที่สุด
พร้อมกับตั้งคำถาม ในเมื่อกลุ่มก้อนการเมืองที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กันต่างก็มีสื่อเป็นของตนเองอยู่แล้ว เหตุใดต้องสนใจการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนรายอื่น ?
สำหรับผู้คลุกคลีกับสื่อในภูมิภาคอาเซียน “กุลชาดา” มีมุมมองต่อคำถามข้างต้นว่า สื่อรายอื่นที่เป็นกระแสหลักสนับสนุนรัฐอยู่แล้ว อีกทั้งฟรีทีวีเป็นสื่อมวลชนที่มีฐานคนดูมาก ดังนั้นการต้านอำนาจรัฐของกลุ่มต่างๆ คือ การทำให้สื่อรัฐเป็นฝ่ายของตนและยกระดับการแพร่ข่าวสารฝ่ายของตนให้มากกว่าผู้ชมเฉพาะกลุ่มของช่องตนเอง
“การแบ่งขั้วที่ชัดเจนแตกแยกที่สุดของสื่อเคเบิลทีวี ยิ่งตอกย้ำความต่างของอุดมการณ์ ปัจจุบันแทบไม่มีที่ว่างตรงกลางแล้ว ทุกสื่อต้องเลือกข้าง แม้แต่สื่อออนไลน์ที่เกิดขึ้นมา ก็พยายามอยู่ในที่ที่เหมาะสม เพราะต้องการหลุดจากวงโคจรนี้” ผู้ประสานงานจากซีป้า แสดงความเห็นถึงการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่วันนี้ยังไม่มีพลังมากพอ
นอกจากนี้ กุลชาดา ยังเห็นว่า สื่อมวลชนไทยมีการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง หรือ hate speech มากขึ้น เห็นได้ชัดในสื่อสังคมออนไลน์อย่างน่าใจหาย
“มีทั้งเป็นการถากถาง ประจาน และดำเนินการ ‘ล่าแม่มด’ กลุ่มคนที่เห็นต่าง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน ทั้งประเทศที่ปกครองและไม่ปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า สื่อยังคงถูกคุกคามทั้งทางร่างกายและอุดมการณ์ทำข่าวเป็นเทรนด์ปกติของภูมิภาคนี้
ส่วนประเทศไทยยังคงเป็นประเทศหนึ่งที่สื่อมีเสรีภาพบางส่วน ที่ยังมีการแทรกแซงและปิดปากของรัฐโดยการใช้กฎหมายและภาคประชาชนที่เห็นต่างเพื่อหนุนบางกลุ่มก้อนทางการเมือง”
จะเป็นไปได้หรือไม่ หากรัฐหยุดการรัดคอสื่อด้วยกฎหมายอาญาแล้วตรวจสอบตัวเองว่าบริสุทธิ์จริง จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ประชาชนหยุดกระบวนการเสพสื่อเพื่อการล่าแม่มดและมองคุกคามสื่อเพื่อสนับสนุนแค่เพียงแนวคิดของกลุ่มตนเองทั้งๆที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่ยอมรับความเห็นต่าง
และจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่สื่อเองจะทำหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพบนฐานของความรับผิดชอบ
หากเป็นไปไม่ได้ ประเทศนี้คงเดินหน้าสู่กลียุคโดยที่ไม่มีสื่อมาสะท้อนและส่องทางอีกต่อไป เพราะสื่อมวลชนถูกรัดคอตายไปเสียแล้ว