3 นักวิชาการมองประชานิยม “ของขวัญ หรือ ฝันลมๆ” ของคนไทย
"ดร.ศรีศักร" ชี้อย่ามัวเถียงเก้าอี้รัฐมนตรี ได้เวลาชี้ปัญหาแผ่นดิน "อ.นิธิ" บอกให้เปิดใจ ประชานิยมดี-ไม่ดีอยู่ที่จังหวะหยิบมาใช้ "ดร.นิรมล" แนะนักวิชาการร่วมแจงผลดี-เสียระยะยาวของนโยบาย
ท่ามกลางบรรยากาศอันคึกคักในการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี พร้อมเสียงทวงทักและวิพากษ์วิจารณ์ประชานิยมว่าที่รัฐบาลใหม่ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการด้านสังคม ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนว่าการพัฒนาที่ผิดเพี้ยนทำให้สังคมไทยเดินผิดทาง จากเดิมเป็นสังคมเกษตรกรรมอยู่กับวิถีธรรมชาติ แต่การบริหารประเทศกลับเดินหน้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างไม่เข้าใจบริบทสังคมไทย ซึ่งห่วงใยว่านโยบายประชานิยมโดยเฉพาะเรื่องค่าแรง จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนต่างประเทศไหลเข้ามากยิ่งขึ้น
“ประชานิยมจะทำให้บ้านเมืองพัง โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงวันละ 300 บาท จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ และอาจเป็นช่องทางให้รัฐดึงทุนต่างประเทศเข้ามา จนกลายเป็น Thailand for Sale ที่เต็มไปด้วยทุนต่างชาติ แล้วคนไทยจะยืนอยู่ตรงไหน นอกจากกลายเป็นทาสติดที่ดิน”
ดร.ศรีศักร ยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลต้องหยิบยกปัญหาของชนชั้นล่างมาพูดก่อน เช่น การปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรมีที่ทำกิน และฝากถึงสื่อมวลชนอย่าหลงกระแสการเมือง เพราะเวลานี้เกิดวิกฤติทั่วประเทศ อย่ามัวมาเสนอข้อถกเถียงกันว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรี ต้องเสนอปัญหาชาวบ้านเต็มแผ่นดินที่เดือดร้อน
"ประชาธิไตยต้องเคลื่อนมาจากข้างล่าง เลิกระบอบประชาธิปไตยสามานย์ที่มองจากข้างบน เห็นคนเป็นกิ้งกือไส้เดือน มีแต่การซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงเสียง ถ้าเริ่มจากข้างล่างเราจะเห็นคนเป็นคน ส่วนประชาชนต้องสร้างกลุ่มภาคประชาสังคมขึ้นมา แล้วดึงความร่วมมือจากหลายส่วน ทั้งเอ็นจีโอ สื่อ เพื่อต่อรองกับอำนาจรัฐ” ดร.ศรีศักร กล่าว
ดร.ศรีศักร กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจไม่ใช่ “การสร้างขั้วอำนาจใหม่” ให้ผู้มีอิทธิพลออกไปโตตามท้องถิ่น แต่ต้องสร้างให้กลุ่มชาวบ้านจะเติบโต
ด้าน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงค์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่ากุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาประเทศคือ หนึ่ง-การปฎิรูปที่ดิน เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ปัญหาอื่นๆคลี่คลายตามไปด้วย เพราะทุนเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ สอง-การกระจายอำนาจ ซึ่งต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป
ศ.ดร.นิธิ ยังให้ความเห็นต่อนโยบายพรรคเพื่อไทยว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักการเมืองมือใหม่ นโยบายประชานิยมอาจมาจากความไม่รอบคอบ ต้องให้โอกาสแสดงฝีมือ และอย่าเหมารวมว่าประชานิยมแล้วจะไม่ดีเสมอไป ต้องดูจังหวะและสภาวะการณ์ทางเศรษกิฐสังคมควบคู่กันไปในการหยิบแต่ละนโยบายมาใช้อย่างเหมาะสม เช่น นโยบายงดส่งเงินเข้ากองทุนน้ำ กับการแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งควรทำ
“ควรลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันลง แต่ไม่ใช่ว่าเหลือศูนย์ และอย่ามองว่ามันเป็นประชานิยมอย่างเดียว โดยตัวมันเองก็มีเหตุผล เพราะช่วงนี้เราอยู่ในสภาวะเงินเฟ้อ การงดส่งเงินเข้ากองทุนจะช่วยเหลือประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่หากรัฐบาลหยุดภาวะเงินเฟ้อได้ ก็อาจเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันได้ 100%” อ.นิธิกล่าว
ส่วน ร.นฤมล อรุโณทัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่านโยบายประชานิยม จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ในระยะสั้น ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่การเลือกรัฐบาลเข้ามา ต้องสร้างความหวังระยะยาวที่จะแก้ปัญหาประเทศและความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นประชาชนต้องรู้เท่าทันนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดใหม่ และร่วมกันติดตามผลในอนาคต
รอง ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ มองปัญหาที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไขมากที่สุดตอนนี้คือ “สร้างความปรองดอง”
“รัฐบาลพูดถึงเรื่องความปรองดอง และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ในระยะต่อไปจะเบี่ยงเบนหรือไม่ ต้องติดตาม รวมทั้งประชานิยมต่างๆ เช่นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ขึ้นเงินเดือน 15,000 บาท ระยะสั้นจะส่งผลดีแน่ แต่ระยะยาวจะเป็นอย่างไร นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยาฯลฯ ต้องช่วยกันให้ความรู้ประชาชนด้วย” ดร.นฤมล กล่าว .