ศาลรธน.นัดชี้ชะตา"ยิ่งลักษณ์"คดีย้าย "ถวิล" 7 พ.ค.นี้ เวลาเที่ยงตรง
"ศาลรธน." นัดตัดสินชี้ชะตา "ยิ่งลักษณ์" คดีโยกย้าย "ถวิล" 7 พ.ค. เวลาเที่ยงตรง “ยิ่งลักษณ์” ให้การสู้ ยันไม่เคยแทรกแซง อ้าง “ทักษิณ” หย่า “คุณหญิงพจมาน” ไม่เข้าข่ายปมตั้ง “เพรียวพันธ์” นั่งผบ.ตร. ด้านเลขาฯ สมช. จับพิรุธเอกสารรับโอนของ “พล.ต.อ.โกวิท” ส่วน“วิเชียร” น้อยใจ “เฉลิม” ด่าเป็นตำรวจคุมบ่อน-คุมซ่อง เหตุขอย้าย!
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการไต่สวนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตผบ.ตร. และอดีตเลขาธิการสมช. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสมช. ในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนายจรูญ อินทรจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นั่งบัลลังก์ไต่สวน
นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การไต่สวนกำหนดไว้ดังนี้ เมื่อมีการยุบสภา ปัญหาพิจารณามีว่า ผู้ถูกต้องพ้นจากตำแหน่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำให้ความเป็นรัฐมนตรี ทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่ และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะสิ้นสุดลงหรือไม่
นายไพบูลย์ กล่าวว่า เมื่อผู้ถูกร้องถูกวินิจฉัยแล้วตำแหน่งจึงว่างลง จึงต้องแต่งตั้งนายกฯ ทันที ซึ่งการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมัคร สุนทรเวช ได้ใช้เวลาแค่ 9 วัน และการแต่งตั้งนายกฯ แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้เวลา 14 วัน จึงเห็นว่าการแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ควรกระทำทันที ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลไม่สมประกอบ สุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจเสียหาย จึงจำเป็นเร่งด่วน ไม่ควรเกิน 7 วัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ได้มอบอำนาจให้รองนายกฯ และรัฐมนตรี ในการกำหนดและพิจารณาบุคลากร ซึ่งผู้รับมอบอำนาจเข้าใจในการกำหนดแผนงานที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้มอบพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ดูแลสมช. ส่วนร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ ดูแลสำนักนายกรัฐมนตรี
“ดิฉันไม่ได้ก้าวก่ายหรือแทรกแซง ครม.ต้องใช้ดุลยพินิจในการบริการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์สูงสุด ไม่ได้คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้า หรือวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน คำนึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นเครือญาติ ด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หย่าขาดกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แล้วด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า และพิสูจน์ได้ว่าพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ แม้จะหมดอายุราชการแล้ว ก็ไม่ได้มาอยู่ในครม.ของตน การโยกย้ายก็ไม่ได้เร่งรีบ แต่การบริหารราชการเราต้องเร่งมือในการปฏิบัติ หัวหน้าส่วนราชการมีความสำคัญในการปฏิบัติ ก็ต้องมีผู้รับผิดชอบในการบริหาร น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้รับประโยชน์ในการแต่งตั้งราชการกระทรวงใด ๆ ในส่วนนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานต่าง ๆ มีความรับผิดชอบที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนและรัฐสภาที่ได้แถลงนโยบายไว้
นายถวิล กล่าวว่า เหตุผลที่แท้จริงในการย้ายตนออกจากตำแหน่งเรื่องมาจากสตช. เพราะก่อนที่จะมีมติครม.โอนย้าย มีเรื่องของสตช.โดยร.ต.อ.เฉลิม ออกมาพูดเรื่องบ่อนการพนัน ซึ่งมีความบกพร่องของพล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.ที่ปล่อยให้มีบ่อนการพนัน และมีข่าวออกมาบ่อยครั้งระยะปล่อยเดือนสิงหาคม 2554 ว่ามีการบีบบังคับให้พล.ต.อ.วิเชียร ได้ลุกขึ้นออกจากตำแหน่ง
“พล.ต.อ.วิเชียรเคยพูดกับผมตอนที่มีข่าวจะย้ายมาสมช. ว่าท่านไม่มา ตำแหน่งที่ผมขอให้ผมสบายใจได้ ท่านใช้คำว่าพี่ถวิลสบายใจได้ ผมไม่มาสมช. ผมจะต่อสู้ที่ สตช. ผมก็บอกแล้วว่าดีแล้ว ผมไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ใดมาก่อน” นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวว่า เมื่อจะทำให้ตำแหน่งที่สตช.ว่างลง จึงต้องเอาพล.ต.อ.วิเชียรออก จึงมาลงที่ตน เหตุที่ย้ายนายถวิลออกเพื่อรองรับพล.ต.อ.วิเชียร ก่อนแต่งตั้งพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ อีกทั้งรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสตช. ก็บอกชัดเจนว่าไม่ไว้ใจตน เพราะทำงานในศอฉ.ในช่วงปี 2552-2553 ซึ่งตนเรียนว่าอยู่ในโครงสร้างตามกฎหมาย
ทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถามว่า ในศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยอำนาจถูกผู้ร้องว่ามีอำนาจโยกย้ายได้ ยกเว้นอย่างเดียวเรื่องดุลยพินิจ นายถวิล กล่าวว่า “ศาลปกครองวินิจฉัย แต่การใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ มีข้อเท็จจริงที่สะท้อนให้เห็นว่าเร่งรีบดำเนินการ การย้ายต่างหน่วยต่างกรมต้องให้ความยินยอมกันก่อน ระหว่างหน่วยที่ให้โอนและหน่วยที่รับโอน แต่หนังสือจากเลขาธิการนายกฯ มีหนังสือลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ไปถึงพล.ต.อ.โกวิท ซึ่งกำกับดูแลผมอยู่ ได้ให้ข้อมูลว่ามีตำแหน่งพร้อมจะรับโอน และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะรับโอนผมให้ความเห็นชอบในวันที่ 5 กันยายน 2554 ซึ่งเท่ากับว่ารัฐมนตรีที่กำกับดูแลหน่วยที่รับโอนยังไม่ได้เห็นชอบก่อนเลย ซึ่งไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยที่โอนและหน่วยรับโอน เป็นการปกติปิดข้อมูลบางอย่าง”
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามว่า วันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันอาทิตย์หรือวันทำการอะไร นายถวิล กล่าวว่า “วันที่ 4 กันยายน 2554 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการตามปกติ”
นายจรัญ ถามว่า ในบันทึกข้อความของสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 4 กันยายน 2554 ซึ่งระบุว่าน.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยินยอมให้รับโอนแล้ว นายถวิล กล่าวว่า “หนังสือจากพล.ต.อ.โกวิท แจ้งว่าน.ส.กฤษณาเห็นชอบพร้อมรับโอนแล้ว แต่มีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2554 ของน.ส.กฤษณาว่าเห็นชอบการรับโอน ผมเห็นว่าถ้าพิจารณาให้ดีแล้วการโอนย้ายต้องให้เกิดประโยชน์ต่อทั้ง 2 หน่วย ก็เห็นว่ามันไม่สอดคล้องกัน เพียงแต่ว่าเรื่องนี้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมและศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้เห็นเป็นสาระสำคัญของการโอน”
นายจรัญ ถามว่า พยานผ่านงานระดับสูงมาแล้ว เห็นว่าการลงวันที่ไม่เหมือนกัน เพราะเหตุใดจึงมีความแตกต่างกัน นายถวิล กล่าวว่า “ผมคิดว่ามีการแก้ไขวันที่ ผมถ่ายเอกสารที่อยู่ในมือผมตั้งแต่ต้น ผมเห็นว่าหนังสือมีความลักลั่น”
ด้านพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ กล่าวว่า เรื่องการโยกย้าย เป็นความเสียใจ ที่มีผู้บังคับบัญชาดูงานตำรวจด้วยกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรง ติเตียนอย่างรุนแรง ที่พูดว่าตำรวจคุมบ่อนคุมซ่อง ซึ่งเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชน ซึ่งเมื่อมาถูกตำหนิติเตียน ก็ได้มาปรึกษาพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ บอกว่าไม่สามารถทำงานกับผู้บังคับบัญชาแบบนี้ไม่ได้ แล้วแต่ว่าจะย้ายไปไหนก็ได้
“พล.ต.อ.โกวิทก็บอกว่า จะย้ายไป สมช. ซึ่งยืนยันว่าเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ขู่เข็ญ ต่อรอง แต่อย่างใด ส่วนตัวนายกฯ ก็ไม่เคยทาบทาม ไม่เคยยื่นเงื่อนไข ไม่เคยแทรกแซง” พล.ต.อ.วิเชียร กล่าว
ต่อมาเวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยให้นัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 เวลา 12.00 น.