เขื่อนไม่แตก ! ‘กรมชล’ ยันรับแรงแผ่นดินไหวสูงสุด 7.0 ริกเตอร์
อธิบดีกรมชลฯ ยันเขื่อนถูกออกแบบตามหลักสากล ไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว จ.เชียงราย ระบุรับแรงสั่นสะเทือนได้สูงสุด 7.0 ริกเตอร์ ประชาชนไม่ต้องกังวล
วันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ที่กรมชลประทาน สามเสน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ความลึก 10 กม. โดยมีศูนย์กลางบริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ว่า เบื้องต้นไม่พบความเสียหายที่มีต่อเขื่อนใกล้จุดเกิดเหตุ เพราะค่าความรุนแรงนั้นน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ออกแบบให้รองรับแรงสั่นสะเทือนสูงสุดขนาด 7.0 ริกเตอร์ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีปัญหาใด อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการให้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเขื่อนที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนและมีความจุค่อนข้างสูง
“เราได้ส่งวิศวกรใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับธรณีฐานล่างลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเขื่อนทุกแห่งที่สร้างโดยกรมชลประทานมีมาตรฐาน” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว และว่าอ่างเก็บน้ำจะพังลงต่อเมื่อเกิดแผ่นดินไหวจากจุดศูนย์กลางที่ตั้ง แต่หากเกิดห่างออกไปโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนจะยิ่งมีน้อยลง
นายเลิศวิโรจน์ ยังกล่าวถึงการตรวจสอบเขื่อนอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ใช้มาตรฐานสากลทางด้านวิศวกรรม พร้อมว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ศึกษากรณีอ่างเก็บน้ำใกล้ชุมชนพังจะมีมาตรการรองรับอย่างไร ซึ่งขณะนี้ได้ขยายผลไปใน 4 พื้นที่ ได้แก่ เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนกิ่วลม เขื่อนแควน้อย และเขื่อนขุนด่านปราการชล ทั้งนี้ไม่สามารถขยายผลไปทุกพื้นที่มีเขื่อนได้ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
“เราให้ความสำคัญกับการออกแบบเขื่อนมาโดยตลอด เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะมีผลกระทบสูงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ฉะนั้นมาตรฐานจึงถูกกำหนดตามหลักสากลให้เขื่อนที่จะสร้างขึ้นในเขตรอยเลื่อนต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ด้านนายสาธิต มณีผาย ผอ.สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กล่าวว่า กรมชลประทานได้ตรวจสอบเขื่อนอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบเป็นพิเศษ แต่ขอยืนยันทุกเขื่อนในประเทศไทยที่สร้างในเขตรอยเลื่อนนั้น ได้มีการพิจารณาออกแบบโครงสร้างเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับการสำรวจธรณี เช่น ไม่มีเขื่อนใดที่ก่อสร้างคร่อมเขตรอยเลื่อน ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ และในระยะยาวจะเพิ่มมาตรการตรวจสอบเชิงลึกเกี่ยวกับเส้นทางธรณีฐานล่างอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาระบุ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นเมื่อเย็นวานนี้ได้เกิดอ๊าฟเตอร์ช็อกตามมาแล้ว 12 ครั้ง ล่าสุด วันที่ 6 พฤษภาคม เวลา 11.45 น. ศูนย์กลางบริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ขนาด 4.3 ริกเตอร์ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยรัฐ