อดีต กก.สิทธิฯชี้กระบวนการยุติธรรมลักหลั่น ชาวบ้านค้าน “เหมืองหินผาจันได” ติดคุก
“สุนีย์ ไชยรส” ชี้ปัญหากระบวนการยุติธรรมกรณีการต่อสู้ของชุมชนค้านเหมืองหินผาจันได ชาวบ้านถูกตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญาข้อหาวางเพลิงเล็กๆ แต่ที่ถูกยิงตาย 4 และคดีขอเพิกถอนประทานบัตรโครงการละเมิดสิทธิชุมชนยังไม่คืบ โยนหินถามรัฐบาลใหม่จะช่วยหรือไม่
จากกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเอกชัย ศรีพุทธา และนายสุพัฒน์ ถมทองวิจิตร ในคดีวางเพลิงเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองคนเป็นชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองหินผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
นางสุนีย์ ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน ว่ากรณีดังกล่าวเป็นการต่อสู้ของชาวบ้าน ครูและพระสงฆ์ ที่ร่วมกันปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น สะท้อนการกระทำกลุ่มทุนที่เอาเปรียบ ปิดบังข้อเท็จจริงและใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือสกัดการต่อสู้ของชาวบ้านที่มือเปล่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี
นางสุนีย์ ยังกล่าวว่า ผลการตัดสินของศาลฎีกาทำเห็นได้ชัดว่า ศาลปกครองกับศาลอาญาแยกส่วนกัน โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นกลางได้ตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดีที่ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประทานบัตรโครงการ โดยให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ห้ามระเบิดหินในบริเวณดังกล่าว
“ศาลอาญาตัดสินโดยไม่มองถึงสิทธิชุมชนในการต่อสู้ การมีจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของศาลปกครองเลย ขาดการเชื่อมร้อยกันอย่างเห็นได้ชัด ขณะนี้ชาวบ้านต่างภาวนาให้ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินโดยเห็นแก่ความรักในทรัพยากรท้องถิ่นของชุมชน” นางสุนีย์กล่าว
อดีตกรรมการสิทธิฯ กล่าวต่อว่านอกจากความหวังในคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ยังมีอีกหนึ่งความหวังคือรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะช่วยชาวบ้านหรือไม่ โดยการเพิกถอนการประทานบัตร ซึ่งสามารถทำได้โดยกำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล ไม่ต้องรอคำตัดสินของศาลปกครอง
“รัฐบาลอาจหยิบยกเอานโยบายเหมืองแร่ นโยบายการเลือกพื้นที่ประทานบัตร นโยบายการประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ขึ้นมาทบทวนใหม่อีกครั้ง ตลอดจนรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งความขัดแย้งระหว่างโครงการเหล่านี้กับชุมชน ยังมีอยู่ทั่วประเทศ แต่กฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนยังอ่อนแอ” นางสุนีย์กล่าว
ทั้งนี้ความขัดแย้งจากโครงการดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 ที่มีการสำรวจพื้นที่บริเวณภูผาจันได ภูผาฮวก และภูผาน้ำลอด ในเขต ต.ดงมะไฟ เพื่อขอประทานบัตรตามโครงการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมกลุ่มคัดค้าน ต่อมาแกนนำชาวบ้าน 2 คน ถูกยิงเสียชีวิต ปลายปี 2541 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้แหล่งหินเขาภูผาจันไดเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรม และวันที่ 20 ม.ค. 2542 มีประกาศเรื่องการขอประทานบัตร ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียต้องยื่นคัดค้านภายใน 20 วัน หนังสือคัดค้านลงวันที่ 27 ม.ค. 42 แต่ทางราชการอ้างว่าไม่มีการคัดค้าน จึงอนุญาตให้ดำเนินการต่อ จากนั้นกำนันทองม้วน คำแจ่ม และเพื่อน แกนนำกลุ่มคัดค้านถูกยิงเสียชีวิต
กลุ่มผู้คัดค้านได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนวุฒิสภา (สว.) ว่าการออกประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น และเสียง ทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร และแหล่งโบราณคดี ทั้งยังไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนและการประชาพิจารณ์ จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอให้ศาลเพิกถอนประทานบัตร
ต่อมามีเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ประทานบัตร กลุ่มทุนฟ้องกลับชาวบ้านทันที 12 คน ในคดีวางเพลิงทั้งที่จุดเกิดเหตุเป็นเพียงเพิงพักเล็กๆ และยังไม่ได้ปลูกสร้างอะไร ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 6 คน ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือนโดยไม่รอลงอาญา
ล่าสุดศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 54 ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญาชาวบ้าน 2 คน อีก 4 คน ยกฟ้อง ขณะที่ 2 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้าของศาลปกครองสูงสุดกรณีชาวบ้านร้องขอเพิกถอนประทานบัตร .