"คนสาธารณสุข"ชายแดนใต้เสี่ยง! กลุ่มภรรยาทหาร-ตร.ตกเป็นเป้า
เหตุจ่อยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เมื่อวันอังคารที่ 29 เม.ย.2557 ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ๆ...
เพราะเหยื่อความรุนแรงนอกจากเป็น "บุคลากรทางการแพทย์" ซึ่งอยู่ในข่ายควร "ยกเว้น" ของสงครามไม่ว่าในพื้นที่ขัดแย้งใดๆ ในโลกแล้ว ซ้ำร้ายผู้ที่ถูกกระทำยังเป็นผู้หญิง และหนึ่งในนั้นยังตั้งครรภ์ 2 เดือนด้วย
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงผู้เคราะห์ร้าย คือ น.ส.จริยา พรหมนวล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ปฏิบัติงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอศรีสาคร เสียชีวิต โดยเธอเป็นภรรยาของ ร.ต.ต.เจษฎา ปัญญโชติกุล รองสารวัตรปราบปราม (รอง สวป.) สภ.ศรีสาคร กำลังตั้งท้องได้ 2 เดือน ส่วนอีกคนคือ น.ส.พิณยุพา วชิรกิจโกศล ลูกจ้างสาธารณสุข ได้รับบาดเจ็บสาหัส
ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พ.ค. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้รุดเดินทางลงพื้นที่ พร้อมเรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
สั่งทบทวนแผนความปลอดภัย
นพ.ณรงค์ กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงว่า ทาง สธ.มีเงินสวัสดิการช่วยเหลือครอบครัว น.ส.จริยา ผู้เสียชีวิต เป็นเงินสวัสดิการ ทั้งยังมีเงินช่วยเหลือของทางจังหวัดและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่นเดียวกับ น.ส.พิณยุพา ทาง สธ.ก็ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้แพทย์โรงพยาบาลปัตตานีดูแลรักษาอาการบาดเจ็บอย่างเต็มที่ โดยปัจจุบัน น.ส.พิณยุพา ยังพำนักอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี
ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นพ.ณรงค์ บอกว่า เดิมทาง สธ.มีแผนสำหรับดูแลความปลอดภัยบุคลากรที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้ว แต่เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ต้องมีการทบทวนแผนที่มีอยู่ เพื่อการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยได้มอบหมายให้ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ กลับไปพิจารณาและทบทวนแผนการดูแลความปลอดภัยกันใหม่ แล้วนำเสนอกลับมา
สำหรับเรื่องขวัญและกำลังใจของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ ปลัด สธ.ยืนยันว่า ขณะนี้ยังมีขวัญกำลังใจที่ดีอยู่มาก และยังมีความตั้งใจ พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชนตามปกติ ไม่ได้มีการหยุดงานเพื่อเรียกร้องใดๆ
นราฯ 4 ปีโดนยิงแล้ว 5 ราย
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "กรุงเทพธุรกิจ" เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่บุคลากรทางสาธารณสุขต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงนั้น พบว่ามีไม่บ่อยครั้งนัก โดยในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2556) มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนทำให้เสียชีวิต 3 ราย และในปี 2557 เหตุยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิง 2 รายที่ อ.ศรีสาคร ถือเป็นเหตุการณ์แรกของปี
สอดคล้องกับข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยหน่วยงานของ สธ.เอง ที่พบว่า เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่สุดของบุคคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2550 เมื่อคนร้ายบุกเข้าไปในสถานีอนามัย ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และใช้อาวุธปืนยิง นางอัจฉรา สกนธวุฒิ หัวหน้าสถานีอนามัยประจัน และ นายเบญจพัฒน์ แซ่ติ่น นักวิชาการสาธารณสุข 5 เสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม
จากนั้นในระหว่างปี 2550-2553 ก็มีเหตุรุนแรงที่มีบุคลากรทางสาธารณสุขตกเป็นเป้าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งลดระดับลงตั้งแต่ช่วงหลังปี 2533 เป็นต้นมา (อ่านเพิ่มเติมใน เมื่อความรุนแรงไม่เลือกเป้าหมาย... “คนสาธารณสุข”อันตรายที่สามจังหวัดชายแดน http://www.isranews.org/south-news/academic-arena/item/1904-qq-sp-162971495.html)
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเหตุรุนแรงที่สร้างความตื่นตระหนกให้คนสาธารณสุขเป็นระยะ เช่น
22 ก.ย.2554 คนร้ายไม่ทราบจำนวนมีรถกระบะเป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิง นายอารฟัต รักษ์ปราชญ์ อายุ 24 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำแหน่งพยาบาลศาสตร์ชาย ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทราย อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เสียชีวิตในพื้นที่ อ.ปะนาเระ โดย นายอารฟัต เป็นพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาล 3,000 อัตราที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพิ่งจบการศึกษาและบรรจุเข้าทำงานในพื้นที่ก่อนโดนยิงไม่นาน
9 ต.ค.2555 นางสือน๊ะ เซ็ง อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 263/6 หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไอร์ปาแย หมู่ 8 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ถูกคนร้ายดักยิงเสียชีวิตในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง
9 ก.พ.2555 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนลอบจุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่ซุกไว้ในรถกระบะ (คาร์บอมบ์) บริเวณสี่แยกหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ถนนสฤษดิ์ ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ด้วย
ไม่สร้างเงื่อนไข-ชุมชนเป็นรั้ว
ข้อมูลจาก แผนงานเครือข่ายพยาบาลชุมชนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน หรือ "พช.สส.ภาคใต้" ระบุว่า หลังเกิดเหตุยิงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิง 2 คนที่ อ.ศรีสาคร ทางเครือข่ายฯได้นัดพูดคุยหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ทุกคนยังยืนยันว่าบุคลากรด้านสาธารณสุขไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มก่อความไม่สงบ
"เราเน้นดูแลความปลอดภัยตัวเอง ใช้ชุมชนเป็นรั้ว ไม่สร้างเงื่อนไข ใช้การทำงานให้ชุมชนเป็นเกราะป้องกัน เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงทำความดีกับชาวบ้านอยู่แล้ว" แหล่งข่าวจาก พช.สส.ภาคใต้ ระบุ
ข้อมูลจากเครือข่ายฯ ชัดเจนว่า ที่ผ่านมาผู้บริหาร สธ.เข้าใจสถานการณ์ และให้อำนาจตัดสินใจกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างอิสระ เช่น พบว่าถนนสายหนึ่งเคยมีรถพลุกพล่าน แต่วันนี้ไม่มีรถสวนมาสักคัน หรือตลาดนัดที่เคยมีคนเยอะ แต่วันนี้กลับคนน้อย หรือมีชาวบ้านเตือนว่าอย่าไปตรงนั้นตรงนี้ ทางผู้บริหารก็ให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจเดินทางหรือระงับการเดินทางเข้าพื้นที่นั้นๆ ได้เลย เพราะทุกพื้นที่มีโอกาสเกิดเหตุไม่คาดฝันได้ตลอดเวลา
ไม่ใช้บริการชุด รปภ.เหมือนครู
"คนสาธารณสุขเองก็ใช้การสังเกต ไม่ประมาทกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา แต่ไม่มีมาตรการเด็ดขาดประเภทปิดโรงพยาาลหรือสถานีอนามัยแบบครูและโรงเรียน รวมทั้งไม่มีการให้ทหาร ตำรวจมา รปภ. แต่การที่ตำรวจ ทหารออกลาดตระเวนตอนเช้าและเย็น เราก็ได้อานิสงส์ด้วยอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยตัวเอง สังเกต และอยู่กับชุมชนให้ได้"
"ที่ผ่านมาทั้งกระทรวง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ก็ห่วงใย และแนะนำให้วางแผนดูแลตัวเองอย่างรอบคอบ เช่น เปลี่ยนเวลาเดินทาง เปลี่ยนเส้นทางที่ใช้ ไม่ไปและกลับในเส้นทางเดียวกัน หรือไม่ควรใช้เส้นทางเดิมบ่อยๆ แต่สิ่งที่เน้นที่สุด คือ ต้องทำงานกับประชาชนได้ เป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านได้ ไม่ไปคุยในเรื่องที่ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ โดยเฉพาะการรักษาความลับของผู้ป่วย เป็นจรรยาบรรณของคนทำงานสาธารณสุขทุกคน บางทีเราก็ขัดแย้งกับฝ่ายความมั่นคงในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป" แหล่งข่าวจาก พช.สส.ภาคใต้ กล่าว
ภรรยาทหาร-ตร.เป้าหมายใหม่
อย่างไรก็ดี จากการเก็บข้อมูลของเครือข่ายฯ พบว่าแม้ที่ผ่านมาแทบไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าทำไมบุคลากรทางสาธารณสุขจึงตกเป็นเป้าหมาย เพราะฝ่ายความมั่นคงมักจับคนร้ายไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะรายล่าสุด (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงที่ อ.ศรีสาคร) น่าจะเพราะเป็นภรรยตำรวจ พักอยู่ในแฟลตตำรวจ
"มีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงจะเก็บภรรยาของคนที่ทำงานภาครัฐ เพราะไม่พกอาวุธ ไม่มีการวางแผน รปภ. ทำให้ปัจจุบันการเป็นภรรยาทหาร ตำรวจ ถือเป็นความเสี่ยงอีกชนิดหนึ่งในพื้นที่ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าเป้าหมายของผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ที่ทหาร ตำรวจเป็นหลักอยู่แล้ว เมื่อทำกับทหาร ตำรวจไม่ได้ ก็ทำกับคนในครอบครัวแทน หลังๆจะเห็นว่าเยอะขึ้่น ไร้มนุษยธรรมมากขึ้น ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้น"
คนสาธารณสุขชายแดนใต้ 2 พันคน
สำหรับโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ระดับบนสุดคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เป็นระดับนโยบาย มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนระดับอำเภอ มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ มีบุคลากรคือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ และทีมนักวิชาการ 8-9 คน
ระดับตำบล มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกตำบล บุคลากรก็จะมีทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน และเจ้าพนักงานทันตาภิบาล ขณะที่ระดับชุมชน มีสถานีอนามัย หน่วยแพทย์ชุมชน หรือศูนย์สุขภาพชุมชน และมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. รับผิดชอบในระดับหมู่บ้าน
ทุกวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการ เจ้าพนักงานสาธารณสุข และทันตาภิบาล ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,000 คน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกแสดงโครงสร้างหน่วยงานและบุคลากรด้านสาธารณสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทีมกราฟฟิก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ