“ปลัดยธ.” ขานรับ “มาร์ค” ปฏิรูปปท. ปัดทำร่วมกปปส. ชี้หน้าที่ทุกฝ่าย
“ปลัดยธ.” ขานรับข้อเสนอ “อภิสิทธิ์” เดินหน้าปฏิรูปประเทศ เผยตั้ง “ครม.คนกลาง” ต้องหารือในข้อกฎหมายให้ละเอียด ปัดทำร่วม “กปปส.” ชี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ระบุ “มาร์ค” เป็นคู่ขัดแย้งอาจทำให้คลางแคลงใจได้
จากกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงแผนเดินหน้าประเทศไทย โดยระบุความตอนหนึ่งว่า ต้องจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกาล และให้ “เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (Reform Now Network)” ทำการปฏิรูปประเทศร่วมกับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นั้น
(อ่านประกอบ : เปิดแนวทางปฏิรูปประเทศไทย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” (ฉบับเต็ม))
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2557 ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า “ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์บางส่วนตรงกับแนวทางที่ "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" หรือ RNN ได้นำเสนอต่อสาธารณะมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นการสร้างหลักประกันว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นแน่นอนหลังการเลือกตั้ง เป็นการปฏิรูปที่เป็นความต้องการของประเทศไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีองค์กรเพื่อการปฏิรูปที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองมาดำเนินการ มีประเด็นการปฏิรูปและแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน และใช้แนวทางประชามติอันเป็นวิถีประชาธิปไตยทางตรงในการสอบถามประชาชนว่ายอมรับแนวทางนี้หรือไม่”
“ข้อเสนอบางส่วนต้องมาหารือในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาทิ เช่น การที่จะมี "รัฐบาลเฉพาะกาลคนกลาง" ซึ่ง"เป็นที่ยอมรับของคู่ขัดแย้งทุกฝ่าย" ว่าในความเป็นจริงจะดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับและอยู่ในกรอบของกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นจุดที่ต้องคุยกันอย่างรอบคอบด้วยความเข้าใจจุดยืนและข้อห่วงใยของทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงโอกาสในการช่วยกันหาทางออกให้ประเทศและประโยชน์สูงสุดของบ้านเมือง”
“นอกจากนี้ ในประเด็นที่คุณอภิสิทธิ์ขอให้ RNN หารือกับ กปปส.เรื่องปฏิรูปก็น่าจะไม่ตรงกับแนวทางของ RNN ที่ดำเนินการมา เพราะปฎิรูปเป็นประเด็นร่วมกันของทุกฝ่ายไม่ใช่เฉพาะ กปปส. RNN จึงพร้อมคุยกับทุกๆฝ่าย และได้ดำเนินการเช่นนั้นมาโดยตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกับพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ นปช. หรือ กปปส.”
“ผมว่าเราต้องยอมรับว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นคู่ขัดแย้งคนสำคัญอยู่ด้วย การที่คุณอภิสิทธิ์เป็นผู้มานำเสนอทางออกในห้วงของความขัดแย้งที่รุนแรงเช่นนี้ แม้จะตั้งใจดี แต่แน่นอนว่าอาจทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มีข้อสงสัย และไม่มั่นใจได้”
“อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าข้อเสนอคุณอภิสิทธิ์น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายและสังคมไทยน่าจะนำมาวิเคราะห์วิจารณ์กันถึงข้อดี ข้อเสีย และความเป็นไปได้อย่างจริงจัง เพื่อช่วยกันพัฒนาให้สามารถนำไปสู่ทางออกประเทศไทยภายใต้กติกาประชาธิปไตยและสันติวิธีอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก oja.go.th