เอกชนไทยเหนียว พบงบฯ ด้านการวิจัยส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ลงทุน
นักวิจัยชี้ไทยไม่ก้าวหน้า เหตุผลงานวิจัยไทยตกต่ำ เอกชนร่วมลงทุนน้อย แนะรัฐบาลควักฝ่ายเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องดึงเอกชนร่วมจ่าย ชี้ทำไม่ได้ จุดจบประเทศ
ศ.ดร.สมชัย วงศ์วิเศษ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการสนับสนุนงานวิจัยในประเทศ โดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบว่าสัดส่วนการมีส่วมร่วมในภาพรวมทั้งหมดของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย งบฯ วิจัยส่วนใหญ่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด
ศ.ดร.สมชัย กล่าวถึงข้อมูลที่ได้ศึกษามาพบว่า ประเทศที่ภาคเอกชนสนับสนุนในด้านวิจัยระบบเศรษฐกิจค่อนข้างเจริญเติบโตและทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ง่าย ขณะที่บ้านเรายังไม่ไปไหน เริ่มต้นก็ยังไม่ถูก
สำหรับสาเหตุที่ภาคเอกชนไม่ให้การสนับสนุนงบฯ ด้านวิจัยนั้น นักวิจัย จากมจธ. เชื่อว่า มี 2 สาเหตุคือ ความไม่เชื่อมั่นในฝีมือรู้สึกไม่ไว้ใจ พร้อมกับมองว่า การซื้อลิขสิทธิ์ในต่างประเทศมีความรวดเร็วกว่า และประเทศไทยไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับแต่อย่างใดให้ภาคเอกชนต้องลงทุนด้านการวิจัย
ศ.ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า ประเทศอื่นอาจจะไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับกับภาคเอกชน เพราะส่วนใหญ่เขาลงทุนกับงานวิจัยอยู่แล้ว แต่สำหรับเมืองไทยอาจจะต้องมี รวมทั้งรัฐบาลควรเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับด้วย
"มีประเทศไทยอยู่ประเทศเดียวยิ่งรวยยิ่งกอบโกย แค่วัดผลงานในกลุ่มอาเซียนเราก็แย่ผิดปกติแล้ว มิหนำซ้ำภาคเอกชนจ้องแต่จะคอยเอาเด็กที่จบใหม่ๆ เข้าไปทำงานต้องเป็นเด็กที่จบวิทยศาสตร์ต้องเก่ง แต่ตัวบริษัทเอกชนเองกลับไม่เคยช่วยอะไร ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องทำเวลานี้คือการบีบให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงขันดึงให้เข้ามาร่วมกับกองทุนวิจัย"
นักวิจัยจากมจธ. กล่าวด้วยว่า แนวคิดให้ภาคเอกชนที่มีกำไรมากต้องจ่ายเข้ากองทุนวิจัยมาก เชื่อว่า การบีบบังคับโดยใช้กฎนี้วันดีคืนดีทุกอย่างจะลงตัวด้วยธรรมชาติของมันเอง เมื่อทุนวิจัยลงไปที่มหาวิทยาลัยก็ทำให้มหาวิทยาลัยสร้างงานวิจัยได้มากขึ้น ฉะนั้นการให้รัฐบาลลงทุนเพียงฝ่ายเดียวต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะว่าไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องหาแนวทางและวิธีการที่จะให้เอกชนร่วมลงขันให้ได้ หากภาคเอกชนไม่ร่วมด้วยนั่นคือจุดจบประเทศ
“การที่จะบอกว่า ประเทศตัวเองเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทุกอย่างจะต้องโปร่งใส ต้องมีวิสัยทัศน์ ตั้งธงว่า ประเทศจะเดินไปอย่างไร อย่างมาเลเซียที่แซงหน้าไทยไปในวันนี้เพราะมีผู้นำที่ตั้งธงตั้งวิสัยทัศน์ไว้อีก 20-40 ปี ประเทศจะเป็นอย่างไร แต่ประเทศไทยไม่มีธงอะไรเลย วันนี้เราควรมีธง และต้องเริ่มที่จะก้าว”