นักวิชาการชี้ “Hate Speech” สื่อวิทยุ-ทีวี ต้องระวังให้มากกว่าสิ่งพิมพ์
สมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุฯ จัดเวที เสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก แนะสื่อลดการเผยแพร่ วาทกรรมที่สร้างความขัดแย้ง เน้นการนำเสนอข้อมูลที่ลดทอนความรุนแรง สร้างการเคารพความแตกต่างกันในสังคม
วันที่ 2 พฤษภาคม 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) โดยมีนักวิชาการและสื่อมวลชน ร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ห้องอิศรา อมันตกุล บริเวณชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ทั้งนี้ภายในงานได้มีแถลงการณ์เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2557
จากนั้นมีเวทีเสวนาเรื่อง “เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ-หยุดวาทกรรมความขัดแย้ง” โดยนายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านไอที แสดงทัศนะเกี่ยวกับการการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวาทกรรมความขัดแย้ง (Hate Speech) ของสื่อมวลชนว่า สื่อมวลชนควรเป็นองค์กร ควรมีบทบาทในการลดทอนข้อมูลที่สื่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม เข้ามามีบทบาทในการรณรงค์และกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อเผยแพร่มากขึ้น รวมถึงควรมีการใช้ภาษาในการสื่อความหมายที่ไม่รุนแรง ไม่เปลี่ยนแปลงความหมายของข้อมูล และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ที่สื่อมวลชนที่จะต้องทำเพื่อลดทอน Hate Speech ในสังคมให้เบาบางลง
ด้านนายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานองค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการปลูกจิตสำนึก และกล่อมเกลาให้เคารพความแตกต่างในสังคม หากสื่อมวลชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยม เคารพการอยู่ร่วมกันแบบมีอารยะ สื่อมวลชนต้องตระหนักถึงบทบาทการทำหน้าที่ที่ดี ไม่บิดเบือนข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ทั้งนี้ยังระบุอีกว่า กฎหมายไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่า จะลดทอนวาทกรรมความขัดแย้งในสังคมลงได้ รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะนำกฎหมายมาใช้กับเรื่องแบบนี้ เพราะท้ายสุดวาทกรรมที่สร้างความขัดแย้งก็จะกลับมาเหมือนเดิม
ส่วนผศ.พิจิตตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสารและการให้ข้อมูล แต่ต้องไม่ลดทอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ควรมีเสรีภาพในการนำเสนอ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการกำกับดูแลซึ่งกันและกันในส่วนของ Hate Speech
"ส่วนของสื่อวิทยุโทรทัศน์ควรระมัดระวังกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะการทำงานอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นสื่อที่ใช้ทรัพยากรของสังคม เช่น คลื่นความถี่ ฉะนั้นผลที่ตามมาจึงก่อให้เกิด Hate Speech ที่มากกว่า" ผศ.พิจิตตรา กล่าว และว่า อยากให้สื่อมวลชนทำงานอยู่บนพื้นฐานที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ให้ความเป็นเหตุเป็นผลกับสังคม ด้วยการลงลึกในข้อมูลมากกว่าความรวดเร็วแต่ข้อมูลบิดเบือน