เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ
แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2557
“เสรีภาพ...บนความรับผิดชอบ”
ตามที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรีและปลอดภัย ซึ่งในปี พ.ศ.2557 ทางยูเนสโกให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ การพัฒนาสื่อ ความปลอดภัยของสื่อและหลักนิติธรรม และความอยู่รอดและเกียรติภูมิของสื่อ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวล้วนมีความสำคัญต่อการส่งเสริม และปกป้องสิทธิเสรีภาพสื่อทั้งสิ้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สนับสนุนหลักการดังกล่าว และต้องการเห็นสื่อทุกประเภทตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและยึดมั่นในหลักการ “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ”
สำหรับสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในรอบปีที่ผ่านมา องค์กรสื่อมวลชนยังตกเป็นเป้าหมายของการถูกปิดล้อมและกดดันโดยมวลชนของแต่ละฝ่าย รวมทั้งนักข่าวจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การชุมนุมทางการเมือง
ที่สำคัญในยุคที่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีได้หลากหลายช่องทางและรายการที่ตัวเองสนใจ ทั้งจากวิทยุ วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมถึงสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลอีก 24 ช่อง นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ สื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประชาชนไม่ได้เป็นผู้ “รับสาร” อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังเป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสาร ภาพข่าว หรือเผยแพร่คลิปออกไปอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายสื่อต่างๆ
แต่อีกด้านหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังพบว่ามีการนำเสนอข้อความ หรือการสร้างวาทกรรม หรือภาพตัดต่อในรูปแบบต่างๆ ที่อาจสร้างความเกลียดชังจนนำไปสู่ความรุนแรงและขยายความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังสามารถส่งต่อความเกลียดชังหรือความขัดแย้งได้ง่าย โดยการกดไลค์ กดแชร์ หรือนำลิงค์ข้อความส่งต่อให้กับผู้อื่น รวมทั้งสื่อประเภทต่างๆ มีการนำเสนอและผลิตซ้ำภาพเหตุการณ์ความรุนแรงอันจะนำไปสู่ความเคยชินของประชาชนผู้รับข้อมูลจนคิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องฝ่ายต่างๆ ร่วมกันตระหนักถึงการส่งต่อข้อความ หรือการเผยแพร่ภาพที่จะนำไปสู่การ “สร้างความเกลียดชัง ความรุนแรง และเพิ่มความขัดแย้ง” ดังต่อไปนี้
1.เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนทุกแขนงตระหนักในการใช้ ”เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลและสังคมโดยรวม ควรงดเว้นการนำเสนอและผลิตซ้ำ ด้วยการใช้ภาษา ข้อความ หรือภาพข่าวที่นำไปสู่ความเกลียดชัง ซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรงที่จะตามมา
2.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในสังคม” หยุดสร้าง หยุดใช้ “วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง ผ่านช่องทางสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของแต่ละฝ่าย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อสังคมโดยรวม
3.เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสารด้วยการกลั่นกรองอย่างรอบด้าน และระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่จะนำไปสู่ความเกลียดชังและความขัดแย้งในวงกว้าง
4.เรียกร้องให้ภาครัฐ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์กรวิชาชีพสื่อ ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติในการเฝ้าระวังและกำกับดูแลสื่อทุกประเภท ให้อยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพและบทบัญญัติของกฎหมาย
สมาคมนักข่าวทั้งสอง ขอย้ำเตือนว่ารัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนเพราะเสรีภาพสื่อมวลชนมีส่วนในการกระตุ้นให้เกิดความโปร่งใสและเกิดธรรมาภิบาลเพื่อเป็นหลักประกันว่า สังคมจะได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
2 พฤษภาคม 2557