"ธาริต"ยันตามภาษีคดีโกง VAT คืนยาก! ปิดสำนวนฟันเอกชน 5 รายเท่าเดิม
"ธาริต" ปัดตอบปมตามเงินคดีภาษี VAT ได้แค่ 131 ล้าน จากยอดรวมที่ถูกฉ้อโกงไป 4.3 พันล้าน ระบุเป็นความรับผิดชอบในส่วนของ ป.ป.ง. ไม่เกี่ยวกับดีเอสไอ ลั่นตามคืนยากเหมือนเดิม! เผยปิดสำนวนสอบไปแล้ว จำนวนผู้ถูกกล่าวหายังมีเท่าเดิม 5 ราย ส่วนเจ้าหน้าที่-ข้าราชการ ไม่พบความผิดชัดเจน โยน "ป.ป.ช." ดูแทน
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) สั่งอายัดทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องในคดีฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้เพียงแค่ 131 กว่าล้านบาท จากยอดภาษีรวมที่รัฐสูญเสียไปจำนวน 4 .3 พันล้านบาท ว่า "การดำเนินงานส่วนนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ง. ขอให้ไปสอบถามข้อมูลจาก ป.ป.ง.จะดีกว่า"
เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะติดตามเงินภาษีคืนกลับมาได้ครบถ้วนหรือไม่ นายธาริต ตอบว่า "หากสามารถติดตามตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีได้ ก็สามารถที่จะฟ้องร้องเรียกคืนเงินภาษีกลับมาได้"
เมื่อถามว่า ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหายังอยู่ในประเทศไทยใช่หรือไม่ นายธาริต ตอบว่า "มีแค่ 2 ราย ที่หลบหนีออกไปต่างประเทศแล้ว ส่วนที่เหลือยังอยู่ในประเทศไทย ที่ผ่านมาเราตรวจสอบข้อมูลจากด่านตรวจคนเข้าเมือง ยังไม่พบว่ามีการเดินทางออกไปนอกประเทศ"
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้เคยระบุว่า การติดตามเงินภาษีคืนคงเป็นไปได้ยาก และขอให้คดีนี้เป็นคดีสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น ยังคิดแบบนี้อยู่หรือไม่ นายธาริต ตอบว่า "มันก็เป็นแบบนั้นแหละ"
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังได้ระบุว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ดีเอสไอ ได้ปิดสำนวนการสอบสวนไปแล้ว โดยในส่วนของเอกชนมีการออกหมายจับ และส่งรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาให้อัยการฟ้องดำเนินคดีแล้ว จำนวน 5 ราย คือ นายวีรยุทธ แซ่หลก หรือ นายธนยุทธ ดลธนโกเศศ 2. น.ส.สายธาร แซ่หลก 3. นายวีรยุทธ นายสุรเชษฐ์ มหารำลึก 4. นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และ 5. นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ ในข้อหากระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้อมูลเจ้าหน้าที่และข้าราชการกรมสรรพากร ที่ได้รับรายชื่อมาจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของกระทรวงการคลัง เบื้องต้นดีเอสไอตรวจสอบข้อมูลแล้ว ไม่พบการกระทำความผิดที่ชัดเจน และดีเอสไอ ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่และข้าราชการทั้งหมด ไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสอบเจ้าหน้ารัฐและข้าราชการโดยตรง ดำเนินการสอบสวนแทน
"แม้ว่าดีเอสไอ จะปิดสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไปแล้ว แต่ในอนาคตหากกระทรวงการคลัง หรือกรมสรรพากร หรือใครตรวจพบข้อมูลใหม่เพิ่มเติม ก็สามารถที่จะส่งข้อมูลมาให้ตรวจสอบได้อีก" อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษระบุ