ดูเหตุผล “ทายาทสมัคร” แย้งศาลปค.คดีจ่ายคืนกทม. 587 ล.ทำไมไม่ได้?
“…ระเบียบดังกล่าวข้างต้นข้อ 17 วรรคห้า ประกอบด้วยข้อ 24 ที่กำหนดให้อำนาจผู้ฟ้องคดีมีอำนาจสั่งการ ในการมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหากคดีจะขาดอายุความ โดยเฉพาะในกรณีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตายให้รีบดำเนินคดีอย่าให้ขาดอายุความมรดก แม้กระทรวงการคลังยังไม่ทำคำวินิจฉัยก็ตาม จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำไปโดยชอบแล้ว…”
หมายเหตุ : เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในคดีที่กรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้องคุณหญิงสุรัตน์ นางกาญจนากร และนางกานดา ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เสียชีวิตไปแล้ว ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กรณีที่นายสมัคร กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อรถดับเพลิง เรือดับเพลิง พร้อมกับอุปกรณ์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสมัคร ร่วมกันกับบริษัท สไตเออร์ เอมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด ประเทศออสเตรีย กำหนดราคาซื้อขายสูงเกินจริง
ศาลปกครองกลาง วันที่ 30 เมษายน 2557 คดีหมายเลขดำที่ 1843/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 672/2557
ผู้ฟ้องคดี กรุงเทพมหานคร
ผู้ถูกฟ้องคดี คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช (1), นางกาญจนากร ไชยลาโภ (2) และนางกานดา มุ่งถิ่น (3)
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามว่า ศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้เนื่องจากเป็นคดีมรดกนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิดชอบในฐานะทายาทในกองมรดกของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขณะดำรงตำแหน่งถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดในขณะปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่ากทม.และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี อันเป็นคดีปกครองตามนัยมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542
กรณีหาใช่คดีมรกดอันเป็นคดีแพ่งสามัญพิพาทกันระหว่างเอกชนต่อเอกชนไม่ ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนข้อโต้แย้งว่าการสอบสวนไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ในส่วนการไม่ส่งรายงานไปยังกระทรวงการคลังก่อนนำคดีมาฟ้องและไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามรับทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสคัดค้านนั้น
เห็นว่า ระเบียบดังกล่าวข้างต้นข้อ 17 วรรคห้า ประกอบด้วยข้อ 24 ที่กำหนดให้อำนาจผู้ฟ้องคดีมีอำนาจสั่งการ ในการมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรหากคดีจะขาดอายุความ โดยเฉพาะในกรณีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตายให้รีบดำเนินคดีอย่าให้ขาดอายุความมรดก แม้กระทรวงการคลังยังไม่ทำคำวินิจฉัยก็ตาม จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีกระทำไปโดยชอบแล้ว
ส่วนการไม่ให้โอกาสผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานนั้น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะต้องให้สิทธินั้นแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2534 มาตรา 30 มาตรา 31 ประกอบระเบียบดังกล่าวข้อ 15 แต่อย่างใด ข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น
คำพิพากษาคดีดังกล่าว
“คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ก่อนขั้นตอนการเสนอขออนุมัติโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อจัดซื้อรถดับเพลิงฯ ต่อนายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย นายสมัคร ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับหลักการข้อเสนอจากนายสมศักดิ์ คุณเงิน เลขานุการรมช.มหาดไทย สรุปข้อหารือระหว่างนายประชา กับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย เรื่อง ความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาอัคคีภัย รวมทั้งเสนอขายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนายสมัครได้รับข้อเสนอ และยินดีรับการสนับสนุน พร้อมมอบหมายให้พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้ฟ้องคดี จัดทำโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จะใช้ในกิจการดับเพลิง เป็นรถดับเพลิงรวม 315 คัน เรือดับเพลิง 30 ลำ และครุภัณฑ์บรรเทาสาธารณภัยตามคุณลักษณะและราคาที่บริษัท สไตเออร์ฯ ได้เคยเสนอต่อนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย ฉบับลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 และของบก่อสร้างศูนยน์ฝึกอบรมพร้อมเครื่องอุปกรณ์เป็นเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งนายสมัครอนุมัติโครงการดังกล่าวและเสนอขออนุมัติต่อนายโภคิน กรณีของบอุดหนุนจากรัฐบาลที่มีวงเงินการซื้อพัสดุตั้งแต่ 32 ล้านบาทขึ้นไป หรือการซื้อโดยวิธีพิเศษที่มีวงเงินตั้งแต่ 16 ล้านบาท ขึ้นไป ให้ผู้ฟ้องคดีเสนอขอรับความเห็นชอบไปยังรมว.มหาดไทยก่อน
พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ผอ.สำนักงานป้องกันฯ ได้เตรียมร่าง A.O.U. ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งต้องจัดทำภายใต้กรอบกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายสมัครควรต้องจัดทำร่าง A.O.U. ให้มีประเด็นที่ตกลงกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียในเรื่องการค้าต่างตอบแทน (Counter Trade) ร้อยละ 100 และการซื้อสินค้าของผู้ฟ้องคดีซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายการพัสดุในส่วนการจัดหาพัสดุที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในหน่วยงานและมีการสอบราคาเปรียบเทียบทางได้เสียเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการก่อนจัดทำ A.O.U. ในการจัดหารถดับเพลิงฯ
รวมทั้งต้องเสนอชื่อนายโภคิน รมว.มหาดไทย เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยเพื่อให้รมว.ต่างกระเทศมอบอำนาจเป็นหนังสือมอบอำนาจ (FULL POWERS) และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการลงนามใน A.O.U. สำหรับการจัดหารถดับเพลิงไปก่อนก็สามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไขของมติครม.ข้างต้น
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท สไตเออร์ฯ เป็นผู้จัดทำร่าง A.O.U. โดยดัดแปลงร่าง A.O.U. ที่เสนอต่อผู้ฟ้องคดีมาจากร่าง A.O.U. ที่บริษัท สไตเออร์ฯ เคยทำกับกองบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพไทย แล้วเสนอให้พล.ต.ต.อธิลักษณ์ พิจารณาก่อนเสนอนายสมัคร
แต่นายสมัครกลับไม่ตรวจสอบหลักการตามที่เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย ได้ตกลงไว้กับรมว.มหาดไทยก่อนหน้าที่นายโภคินจะมาดำรงตำแหน่งรมว.มหาดไทย แต่กลับเร่งเสนออนุมัติโครงการดังกล่าวต่อนายโภคิน พร้อมแนบข้อเสนอของเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรียประจำประเทศไทย และใบเสนอราคารถดับเพลิง เรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย หมายเลข OFFER NO. 870/04/03/58 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 ของบริษัท สไตเออร์ฯ รวม 15 รายการ มูลค่า 156,953,203 ยูโร เอกสารในสำนวนศาล ลำดับที่ 2/468 – 2/491 เพื่อเสนอครม.อนุมัติโครงการดังกล่าว และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยละเลยไม่เสนอให้นายโภคิน เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยแต่อย่างใด
ซึ่งนายโภคินต้องได้รับมอบอำนาจโดยหนังสือมอบอำนาจเต็มจากรมว.ต่างประเทศ ตามมติครม.ดังกล่าว พร้อมทั้งอ้างเหตุความจำเป็นเร่งด่วน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวอ้าง โดยปรากฏข้อเท็จจริงจากพยานบุคคลและพยานเอกสาร ดังนี้
สำหรับพยานเอกสาร ประกอบด้วย บันทึกข้อความลงวันที่ 4 มีนาคม 2547 ที่นายสมัคร ในฐานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีบันทึกข้อความถึงนายโภคิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้อนุมัติโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และขออนุมัติจัดซื้อรถดับเพลิงฯ จำนวน 315 คัน พร้อมเหตุผลและความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันอัคคีภัยและบรรเทาสาธารณภัย
โดยพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ในขณะดำรงตำแหน่งผอ.สำนักป้องกันฯ เสนอให้พิจารณาเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องจัดซื้อรถดับเพลิงฯ โดยไม่มีข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมว่ามีเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนอย่างไร แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงจากพล.ต.ต.ชาตรี สุทัศน์ ณ อยุธยา เคยรับราชการกองบังคับการตำรวจดับเพลิงตรวจดูรายการจัดซื้อ 15 รายการ แล้วให้ความเห็นว่า ไม่สมควรซื้อทั้ง 15 รายการ เนื่องจากรถดับเพลิงที่ผู้ฟ้องคดีรับมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเพียงพอ ประกอบกับผู้ฟ้องคดีมีอุปกรณ์ทดแทนอยู่แล้ว และเรือดับเพลิงที่จัดซื้อมีความยาว 38 ฟุต ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในคลอง ซึ่งมีความแคบ อีกทั้งบางสถานีมีจำนวนเจ้าพนักงานดับเพลิงน้อยกว่าจำนวนรถและอุปกรณ์
และนายนิยม กรรณสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งต่อจากพล.ต.ต.อธิลักษณ์ ก็ยืนยันว่า ขณะนั้น ผู้ฟ้องคดีมีสถานีดับเพลิงจำนวน 35 สถานี ในสมัยของนายอภิรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม.จึงได้มีแผนขยายอีก 20 สถานี ภายใน 2 ปี และมีการของบสร้างอาคารสถาบันศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิง 1 หลัง ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพสำนักป้องกันฯของผู้ฟ้องคดี ซึ่งอธิบดีกรมป้องกันฯ ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงหรือโรงเรียนดับเพลิง เพราะควรเป็นเรื่องของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันฯ ที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ โดยเฉพาะการฝึกอบรมและปฏิบัติต้องใช้เทคนิคและความเป็นผู้ชำนาญชั้นสูง ผู้ฟ้องคดีควรฝึกการดับเพลิงขั้นพื้นฐานเท่าที่จำเป็น ไม่น่าจะเป็นต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือชั้นสูง
และภายหลังคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันฯ ให้ข้อสังเกตกรณีการเปิด L/C ในฉบับภาษาไทย จะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หลังจากลงนามในข้อตกลงของความไม่เข้าใจไม่น่าจะถูกต้อง และไม่มีการกล่าวถึงการทำการค้าต่างตอบแทน (COUNTER TRADE) แต่พล.ต.ต.อธิลักษณ์ และนายสมัคร หาได้แก้ไขข้อสังเกตดังกล่าวเพื่อหเกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียเสนอมาไม่
พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่า การขออนุมัติโครงการฯเพื่อจัดหารถดับเพลิงดังกล่าว ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามที่นายสมัครกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากภายหลังนายโภคินมีหนังสือถึงครม.ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 แล้วนายสมัคร ได้ขอตัดงบก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมและครุภัณฑ์ส่วนประกอบของอาคารออกรวม 3 รายการ อันแสดงให้เห็นว่านายสมัคร มิได้มีแผนรองรับในการดำนเนการให้มีสถานีรองรับการจัดซื้อรถดับเพลิง และเรือดับเพลิงในส่วนของที่จอดรถและที่จอดเรือ
จากพฤติการณ์การเสนอโครงการฯของพล.ต.ต.อธิลักษณ์ และนายสมัคร เป็นไปอย่างเร่งรีบโดยไม่จัดเตรียมแผนงานโครงการ และวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการฯ อย่างรอบคอบ ทั้งด้านแผนงาน แผนเงิน และแผนคน รวมทั้งการประเมินโครงการฯ อันเป็นหลักวิชาการในการจัดทำโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ไม่ปรากฏกรณีที่เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนสมดังกล่าวอ้างที่จะต้องรีบดำเนินการ หากเกิดความล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายของแนวปฏิบัติตามมติครม.ดังกล่าวข้างต้น อันจะทำให้นายสมัครไม่ต้องปฏิบัติตามแนวทางของมติครม.ดังกล่าวแต่อย่างใด
…..
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 587,580,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ทั้งนี้หากคดีที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องบริษัท สไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายเรียกทรัพย์สินคืน ตามคดีหมายเลขดำที่ กค.155/2552 โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้คู่กรณีกลับคืนฐานะเดิม หรือคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของ ICC มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้คู่กรณีตกลงกันด้วยดีทำให้ค่าความเสียหายลดลงเพียงใด ก็ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามรับผิดตามอัตราส่วนตามที่ศาลกำหนดให้นายสมัคร สุนทรเวช รับผิดชอบเพียงนั้น หากยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการซื้อของแพง ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามต้องรับผิดต่อสู้ฟ้องคดีเพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ตกทอดแก่ตน และให้คืนค่าธรรมเนียมศาล บางส่วนตามส่วนของการชนะคดีแก่ผู้ฟ้องคดี”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thai.cri.cn