ประธานบอร์ด สทศ. ยันนศ.โท-เอก ไม่ต้องสอบ U-NET
จุฬาฯ ตั้งวงถก “U-NET กับอนาคตเด็กไทย” นักวิชาการแนะให้จัดสอบแบบสุ่ม ไม่ระบุตัวตน ยัดชัดให้เลิกพูดจะเอาผลสอบไปใช้สมัครงาน ด้านบริษัทเอกชน มองเป็นแค่ข้อสอบเด็กๆ เหตุมาตรฐานวิชาชีพวัดเข้มกว่านี้อยู่แล้ว
ตามที่คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้มีมติให้ดำเนินการจัดการทดสอบระดับชาติระดับอุดมศึกษา (U-NET) ขึ้นเพื่อดำเนินการทดสอบนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา โดยจะนำร่องการจัดสอบดังกล่าวภายในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 8 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2548 ซึ่งจากการมีมติดังกล่าวของ สทศ.ทำให้เกิดคำถามต่อการจัดสอบและความไม่พอใจจากหลายฝ่าย จนล่าสุดได้มีการออกแถลงการณ์จากสภานิสิตนักศึกษาทางมหาวิทยาลัยที่แสดงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดการทดสอบยูเน็ตมากมาย
วันที่ 30 เมษายน 2557 ณ ห้อง 202 อาคารมหิตาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “U-NET กับอนาคตเด็กไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนามีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของภาครัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจากสภานิสิตจุฬาฯ ร่วมแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนกัน
ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวถึงการจัดสอบ U-NET ครั้งนี้เป็นการจัดสอบนำร่อง โดยขึ้นอยู่กับอาสาสมัครเท่านั้นเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดสอบ U-NET ในอนาคตต่อไป ซึ่งหากมีผลสอบที่ใช้วัดผลอย่างอื่น เช่น การทดสอบวัดความรู้ภาษาอังกฤษ (TOEFL) ก็ไม่จำเป็นต้องสอบ U-NET เพิ่ม
“เร็วๆ นี้จะมีการประชุมย่อยและรับฟังความเห็นทุกเดือน ก่อนจัดการประชุมใหญ่ในเดือนกันยายนนี้”ศ.ดร.สมหวัง กล่าว และว่า การสอบ U-NET สำหรับนักศึกษาปริญญาโท-เอก นั้นไม่ต้องสอบ ขณะที่การใช้ผลการสอบ U-NET ในการสมัครเข้าทำงาน ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้สอบและเอกชนต่างๆ ที่จะนำผลสอบดังกล่าวไปใช้
รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมย์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดสอบ U-NET เป็นการจัดสอบโดยเป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลการประกันคุณภาพการศึกษาหรือ TQF เพื่อประเมินคุณภาพในการสร้างผลผลิตของมหาวิทยาลัยว่ามีคุณภาพและเป็นที่พึงพอใจหรือไม่ ในเมื่อ สทศ.รู้แล้วว่า เป็นการสอบเพื่อประเมินมหาวิทยาลัย ดังนั้นผู้สอบจึงไม่จำเป็นต้องแสดงตัวตนในการสอบ เนื่องจากเป็นการสอบในฐานะตัวแทนของมหาวิทยาลัยเท่านั้น คะแนนที่ได้จึงไม่ใช่คะแนนส่วนบุคคล แต่นำมารวมกันเพื่อให้ได้คะแนนของมหาวิทยาลัย ฉะนั้น ก็เลิกพูดไปเลยว่าจะเอาผลสอบไปใช้ในการสมัครงาน
“อยากให้ สทศ.ทำให้กระจ่างว่าการสอบ U-NET ในครั้งนี้แตกต่างจากการสอบประเภทอื่นอย่างไร”
ด้านอาจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หลายประเด็นข้อสอบของ สทศ. มีประเด็นถกเถียงถึงไม่มีความนิ่ง ซึ่งทาง สทศ.จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้นิ่ง ในเมื่อประเด็นต่างๆ นั้นสามารถถกเถียงได้ ตัวเลือกที่เราตอบอาจจะถูกในกระบวนทัศน์หนึ่ง แต่อาจผิดในอีกกระบวนทัศน์หนึ่งได้ ฉะนั้น ข้อสอบของ สทศ.ก็ไม่ควรยึดติด โดยไม่สนใจกระบวนทัศน์อื่นที่ต่างกัน
สำหรับนักศึกษาออกมาเรียกร้องนั้น อาจารย์พิพัฒน์ กล่าวว่า ขอให้คิดด้วยว่าคุณภาพการเรียนของตนเองเป็นอย่างไร หากคิดว่า ระบบการสอบแบบนี้ไม่จำเป็น ตัวนักศึกษาเองก็ต้องทำตัวให้มีคุณภาพมากขึ้นด้วย
ขณะที่ดร.รัชนีวรรณ วณิชย์ถนอม นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) กล่าวแสดงความไม่เห็นด้วย หากมีการนำข้อสอบ U-NET มาใช้ในการสอบ ก.พ. เพราะคำถามเชิงจริยธรรมที่ สทศ.จะออก ของ ก.พ.ที่มีการจัดสอบวัดด้านนี้เหมือนกัน เพียงแต่มีเป้าหมายที่ต่างกัน
ด้านน.ส.นราวดี เจริญจิตต์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน บริษัท เอไอเอ จำกัด กล่าวแสดงความเห็นใจนักเรียนนักศึกษาที่ต้องผ่านการสอบจำนวนมาก แต่หากการสอบ U-NET ได้มาตรฐาน และทาง ก.พ.ยอมรับได้แล้ว ภาคเอกชนก็พร้อมยอมรับเช่นกัน
“เอไอเอ ต้องดูหลายอย่าง มีการสอบหลายครั้งที่ภาครัฐเข้ามากำกับ เช่นการสอบ คปภ. การสอบฝ่ายบัญชี การสอบอบรมต่อใบอนุญาตต่างๆ ดังนั้น จึงมองว่า การสอบ U-NET เป็นแค่ข้อสอบเด็กๆ เพราะมาตรฐานวิชาชีพนั้นก็มีระดับขั้นที่สูงอยู่แล้วในกรปฏิบัติงานจริง”