ปลัดยธ.เสนอนักการเมืองคู่ขัดแย้งเสียสละ เว้นวรรค 1 ปี เปิดทางปฏิรูป
‘กิตติพงษ์’ ชงข้อเสนอเดินหน้าประเทศสร้างจุดร่วม ‘เลือกตั้ง-ปฏิรูป’ ต้องขับเคลื่อนพร้อมกัน ระบุแนวคิดให้คู่ขัดแย้งสองฝ่ายทางการเมืองเว้นวรรค 1 ปี เลขาฯ ธนาคารไทยจี้ตั้งองค์กรปฏิรูปตามกม. สร้างพันธะผูกพันรัฐบาล ปชช.มีส่วนร่วม
วันที่ 30 เมษายน 2557 ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีระดมความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 4 ‘การปฏิรูปบนวิถีประชาธิปไตย’ โดยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวภายหลังถึงประเด็นนักการเมืองไม่มีความจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศว่า โดยทั่วไปนักการเมืองหรือกลุ่มอำนาจมักไม่ประสงค์จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทุกคนเห็นวิกฤตของปัญหาอย่างลึกซึ้ง
ดังเช่น เมื่อปี 1998 ประเทศอินโดนีเซียเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ ทำให้เกิดความกังวลว่าประเทศจะล่มสลาย ส่งผลให้นักการเมืองที่มีความสำนึกเริ่มรู้สึกหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ประเทศอาจเสียหายถึงขั้นหายนะได้ ดังนั้นการปฏิรูปจึงเกิดขึ้นแบบไม่ต้องอาศัยกลไกพิเศษอื่นเลย ยกเว้นความเสียสละของผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อถามว่าประเทศไทยถึงจุดที่ต้องเสียสละแล้วหรือไม่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างอำนาจ ฉะนั้นหากมีการจัดการเรื่องดังกล่าวใหม่อย่างเหมาะสมจะทำให้พรรคการเมืองตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ประชาธิปไตยก็จะตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย โดยไม่มีระบบพรรคการเมืองที่ถูกครอบงำ หรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเช่นกัน
“วันนี้ถ้าเราเถียงถึงปัญหาเฉพาะบุคคล กลุ่ม หรือพรรคพวก ก็ไม่สามารถก้าวข้ามไปยังปัญหาพื้นฐานได้ คำถามคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมองประเทศไทยถึงจุดที่ต้องหันมาพูดคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาก่อนถึงหายนะ” นายกิตติพงษ์ กล่าว และว่า หลายประเทศมีการปฏิรูปขึ้น เมื่อเกิดวิกฤตเสียหาย คนตายเป็นแสน เพราะประเทศมีโครงสร้างไม่เหมาะสม ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันนั้น
เมื่อถามถึงวิธีการของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปทำให้นักการเมืองเสียสละ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เครือข่ายฯ ไม่ประสงค์เป็นคนกลางที่ดึงฝ่ายต่าง ๆ ร่วมพูดคุย แต่เราเห็นประเด็นการปฏิรูป ซึ่งในห้วงเวลาความขัดแย้งในปัจจุบัน ไม่สามารถจะตกลงอะไรได้ในระยะเวลาสั้น ๆ จึงต้องหาประเด็นร่วมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ความต้องการของทุกฝ่ายได้
"จากประสบการณ์ของเครือข่ายฯ ฟันธงเลยว่า ทุกฝ่ายต้องมีจุดร่วมกัน โดยนำประเด็นการเลือกตั้งรวมกับประเด็นการปฏิรูป มิเช่นนั้นปัญหาก็จะวนเวียนอยู่ จึงต้องทำให้ทุกคนเห็นตรงกันว่าการปฏิรูปจะทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า แต่ควรสร้างหลักประกันการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างไรด้วย"
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม แสดงความเห็นส่วนตัวมองว่า “นักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งควรเสียสละอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเปิดทางไปสู่การปฏิรูปให้เกิดขึ้นจริง”
สำหรับนักการเมืองคู่ขัดแย้งนั้นคือใคร นายกิตติพงษ์ ไม่ระบุชัดเจน โดยอ้างว่าไม่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง แต่โดยหลักการหากเราเปลี่ยนจากการแข่งขันที่เน้นเชิงนโยบายมาเป็นประเด็นร่วมนำไปสู่การปฏิรูป น่าจะพูดคุยได้
พร้อมยืนยันอีกครั้งว่ากรณีนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีการนำไปหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันก่อนแต่อย่างใด
ด้านนายกรณ์ จาติกวนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้เรามุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปประเทศ แต่สุดท้ายไม่แน่ใจว่าตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ เพราะหากทุกคนต้องการเหมือนกันคงเกิดขึ้นไปแล้ว โดยข้อเท็จจริง คือ ผู้ได้เปรียบจากโครงสร้างสังคมปัจจุบันไม่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสาเหตุต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้เกิดการปฏิรูป
“ถ้าข้อสันนิษฐานเป็นจริง การที่เราพูดกันเรื่องการปฏิรูป สุดท้ายจะไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ เพราะความขัดแย้งที่แท้จริงไม่ได้เกิดขึ้นจากการพูดคุยว่าจะปฏิรูปหรือไม่” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว และว่าสำคัญที่สุด วิธีเดียวนำไปสู่การพูดคุยจะต้องรักษากฎกติกา และประเด็นการปฏิรูปก็จะมาถึงจุดนั้น แต่ต้องยอมรับก่อนว่ายังมีบางคนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ขณะที่ดร.ธวัชชัย ยงกิตติคุณ เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ทุกฝ่ายเชื่อการเลือกตั้งเป็นเรื่องจำเป็นของระบอบประชาธิปไตย แต่สาเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ต้องการได้รัฐบาลชุดเดิม ฉะนั้นต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศใหม่ กติกา และคุณภาพ นอกจากนี้ต้องจัดตั้งองค์กรทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้มีผลผูกพันกับรัฐบาล ซึ่งอาจต้องมีกระบวนการลงประชามติหรือสัตยาบัน แต่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย