ถาวร เสนเนียม : ชายแดนใต้วันนี้เป็น "เขตปกครองพิเศษ" อยู่แล้ว
นอกจากนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยเรื่อง "ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท" และ "เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท" ที่กำลังถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางแล้ว นโยบายอีกด้านหนึ่งที่เป็นเสมือน "แผลเป็น" รักษาไม่หายของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อพรรคไทยรักไทยก็คือ นโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชูนโยบาย "ดับไฟใต้" ด้วยการตั้ง "นครปัตตานี" หมายถึงการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ โดยให้รวมพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็น "นครปัตตานี" แล้วให้คนในพื้นที่เลือกผู้นำจากท้องถิ่นโดยตรงเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาท้องถิ่นได้ตรงตามความต้องการของพี่น้องประชาชนซึ่งมีอัตลักษณ์ทั้งศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม แตกต่างจากพื้นที่อื่น
ขณะเดียวกันก็ให้ยุบ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานชิ้นโบว์แดงของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วใช้กลไก "นครปัตตานี" ทำงานแทน
แต่ปัญหาก็คือ ผลการเลือกตั้งที่ชายแดนใต้ซึ่งมี ส.ส.ได้ 11 คน ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยสอบตกทั้งหมด ไม่ได้รับความไว้วางใจเลยแม้แต่คนเดียว ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชูธงชัดเจนว่า "ไม่เอานครปัตตานี" กลับกวาดมาได้ถึง 9 ที่นั่ง
คำถามจึงระเบ็งเซ็งแซ่ว่า พรรคเพื่อไทยที่กำลังจะได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะมีนโยบายดับไฟใต้อย่างไร?
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย และ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดอายุรัฐบาล 2 ปีเศษ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางดับไฟใต้ในความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเน้นว่าไม่ควรตัดสินใจยุบ ศอ.บต.
"ผมยอมรับว่าผมกังวลมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1.ความไม่ชัดเจนในแนวทางแก้ไขปัญหาภาคใต้ และปัญหาเก่าที่พรรคไทยรักไทยเคยทำไว้ คือ กรณีมัสยิดกรือเซะ กรณีตากใบ กรณีที่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกอุ้มหาย เหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะไปคิดบัญชีกับพี่น้องประชาชนอีกหรือไม่ หรือไปสร้างความเข้าใจ หรือจะไปเยียวยาให้ความเป็นธรรม เพราะเพียงแต่บอกว่าขอโทษที่เคยใช้กำปั้นเหล็ก แค่นั้นคงไม่พอ"
"ข้อกังวลที่ 2 คือความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปพูดที่ จ.ยะลา ว่าจะจัดตั้งนครปัตตานี ส่วนผู้อาวุโสในพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย ตรงนี้จะนำไปสู่ความสับสน ที่สำคัญที่สุดเขาบอกว่านครปัตตานีเป็นเพียงองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ วิธีการนำเสนอแบบนี้เพื่อให้ดูหวือหวา แสดงว่าผู้นำเสนอนโยบายไม่เข้าใจปัญหา"
"เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่สะดวกในชีวิตประจำวัน เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ไม่ใช่เรื่องของการมีส่วนร่วมในการปกครอง ดังนั้นหากจะยุบองค์กรหลายร้อยองค์กร (องค์กรปกครองท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ เช่น อบต. อบจ. และเทศบาล) ให้เหลือองค์กรเดียว จะเป็นการหลงประเด็น"
“ผมขอเรียนไปยังว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์ว่า เราได้คิดจัดตั้ง ศอ.บต.ขึ้นภายใต้ความต้องการของพี่น้องประชาชน จนกระทั่งตกผลึก มั่นใจว่าเป็นองค์กรที่ดีและเดินถูกทางแล้ว จึงอยากฝากให้สานต่อแนวทางที่เราทำไว้ กระทรวงมหาดไทยต้องคัดเลือกคนที่รู้และเข้าใจปัญหาจริงเข้าไปทำงาน อย่างน้อยก็เป็นคนในพื้นที่หรือเติบโตที่นั่น สิ่งสำคัญที่สุดคือรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องไทยมุสลิม ไม่เช่นนั้นความผิดพลาดในยุคปี 2544 ถึง 2549 (รัฐบาลพรรคไทยรักไทย) จะกลับมาอีก"
นายถาวร กล่าวต่อว่า นโยบายที่ใช้พัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "เขตปกครองพิเศษ" อยู่แล้ว โดยมี ศอ.บต.เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิเศษ มีคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ชายแดนใต้ (ก.พ.ต.) โดยในกรรมการชุดนี้มีภาคประชาชนเข้าร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายจังหวัดละ 1 คน รวมทั้งมีการออกแบบให้มีสภาที่ปรึกษาด้านการบริหารและการพัฒนาซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 49 คน มาจากภาคประชาชนทั้งหมด ที่สำคัญเลขาธิการ ศอ.บต.ยังมีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการในพื้นที่ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมออกนอกพื้นที่ได้ด้วย
นอกจากนั้น ยังส่งเสริมศักยภาพ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ปราศจากอบายมุข หรือให้ทางตอนใต้ที่ติดกับประเทศมาเลเซียเป็นเขตการค้าขายพื้นที่เฉพาะ หรือเขตนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เป็นต้น
"ทั้งหมดนี้แตกต่างจากการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไปของอีกกว่า 72 จังหวัดในประเทศไทยที่กำลังใช้อยู่ สำหรับนโยบายที่กำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เราได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และคำนึงถึงนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วย"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :
- ยศวดี หงษ์ทอง เป็นนักข่าวสายการเมือง สำนักข่าวเนชั่น
- บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 ก.ค.2554 หน้าในประเทศ
ขอบคุณ : เรื่องและภาพจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เครือเนชั่น