สช. คลอดแผนปฏิรูปสุขภาพ พร้อมรับมือประเทศไทยอีก 10 ปี ข้างหน้า
เลขาธิการ คสช. เสนอปฏิรูประบบสุขภาพ 5 แนวทาง ชูแนวคิด health in all policies สู่ภาคปฏิบัติ แนะ ประชาชน ต้องร่วมกันกำหนดนโยบายสร้างความเข้มแข็งเพื่อรับมือ มิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 29 เมษายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง “Restart ประเทศไทย”ทศวรรษใหม่นโยบายสุขภาพ ณ อุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park บริเวณชั้น 8 ห้างสรรพสินเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในอีก 10 ปี ข้างหน้าว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะที่ส่งผลกับสุขภาวะของประชาชน ซึ่งมีซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นทั้งในด้านของมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมือ วางยุทธศาสตร์เพื่อ “ปฎิรูประบบสุขภาพ” โดยร่วมมือกันขับเคลื่อนในช่วงที่ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยกำลังเป็นประเด็นที่สังคมไทยตื่นตัวและให้ความสำคัญในขณะนี้”
เลขาธิการ สช. กล่าวถึง มิติทางด้านการเมือง ประเทศไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนและความขัดแย้งต่อไป แต่ผู้คนในสังคมจะพัฒนาความคิดและจิตสำนึก ไม่ยอมรับการใช้อำนาจโดยมิชอบ การทุจริตคอรัปชั่น ถือเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของระบอบ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม นำไปสู่การกระจายอำนาจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น ในด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพด้วยตัวเอง
ในขณะที่ มิติทางเศรษฐกิจ ก็มีปัจจัยเรื่องการเปิดการค้าเสรีทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค รวมถึงนโยบายส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพ (Medical Hub) ทั้งนี้ปริมาณแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นก็จะกระทบต่อการให้บริการสุขภาพคนไทยซึ่งจะทำให้ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น
ด้านมิติทางสังคม เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมเมืองมากขึ้นปริมาณคนชนชั้นกลางเพิ่ม แต่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ การบริโภคและสภาวะแวดล้อมที่ไม่อำนวยต่อสุขภาพ จนถึงปี 2573 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบมาถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด
ส่วนมิติด้านเทคโนโลยี จะมีการพัฒนาระบบสื่อสารที่ล้ำหน้า ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพรวดเร็ว มีการรวมตัวอย่างเข้มแข็ง แต่ก็เกิดผลกระทบเชิงลบ เช่น การเสพติดในโลกออนไลน์ การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวง
และสุดท้ายคือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม จะเกิดภัยคุกคามสุขภาพจากภาวะโลกร้อน เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยธรรมชาติรุนแรง โรคอุบัติเหตุใหม่
“ทุกคน ทุกภาคส่วนร่วมในการการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ เพื่อนำไปสู่ระบบบริการสุขภาพที่ดีในอนาคต” นพ.อำพล กล่าว และว่า ทั้งนี้ ภาคเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องโดยมีข้อเสนอ 5 แนวทาง ประกอบด้วย
1.การปฏิรูปสร้างเสริมสุขภาพ โดยการป้องกันและการกำจัดภัยคุกคามสุขภาพส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน นำหลักการเรื่อง “สุขภาพในทุกนโยบาย” หรือ (Healthy in All Policies) สู่การปฏิบัติเพื่อการบังเกิดผล รวมทั้งพัฒนาระบบงานและองค์กรที่ทำงานด้านระบาดวิทยา และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
2. การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ทั้งระบบสุขภาพชุมชนและระบบบริการสุขภาพผสมผสานในระดับอำเภอ (District Health Systems) ควบคู่กับการส่งเสริมเวชปฏิบัติระดับครอบครัวและชุมชน การจัดวางแผนระบบบริการสุขภาพ (Health Service Plan) ของประเทศ ให้ครอบคลุมในการบริการสุขภาพในทุกระดับ พร้อมกับทบทวนนโยบายความเป็นเลิศด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์สุขภาพในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ส่งเสริมการพัฒนาในเรื่องของการแพทย์แผนไทย หรือแพทย์ทางเลือกอีกด้วย
3.การปฏิรูประบบการสร้างและพัฒนาบุคคลกรด้านสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการวางแผนผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพในสาขาต่างๆ ทั้งด้าน ปริมาณ คุณภาพ และการกระจายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมทางวิชาชีพ และพัฒนาระบบการคุ้มครองสิทธิผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่เพิ่งประสงค์จากการบริการสุขภาพ และสนับสนุนบทบาทและพัฒนาศักยภาพคนพิการ ผู้สูงอายุ และบุคคลด้อยโอกาส
4.การปฏิรูปการเงินการคลังและระบบหลักประกันด้านสุขภาพ โดยใช้วิธีต่างๆ เช่น การใช้มาตรการภาษีกับสินค้า และบริการที่มีผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวกต่อสุขภาพ การส่งเสริมและลงทุนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี รวมถึงการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการร่วมจ่ายเงิน เพื่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับกองทุนสุขภาพอื่น
5.การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการอภิบาลระบบสุขภาพเครือข่าย (Governance by networking) ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หรือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นต้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส รวมถึงกระจายทรัพยากรให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการสร้างเสริมสุขภาพ และปรับสถานบริการของรัฐให้เป็นระบบการบริหารจัดการที่คล่องตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ข้อเสนอทางด้านสุขภาพดังกล่าวจะพิจารณาข้อเสนอ โดยจัดเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 มิถุนายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ อิมแพ็ค เมืองทองธานี