‘ดร.บัณฑูร’ แนะปฏิรูปสิ่งแวดล้อมต้องรื้อ-สร้างระบบ EIA-EHIA ใหม่
‘ดร.บัณฑูร’ชี้ปฏิรูปรองรับสิทธิชุมชนสิ่งแวดล้อมต้องรื้อ-สร้างระบบ EIA-EHIA เร่งคลอดกม.รองรับอย่างน้อย 5 ฉบับ นักวิชาการ มช.ระบุชาวบ้านเปลี่ยนมุมมองผลักดันข้อเรียกร้องกับอปท.แทนรัฐสภา
เร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีสาธารณะ ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยการเสวนา ‘การกระจายความเจริญกับสิทธิและพื้นที่ของชุมชน’ ณ ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันมีความต้องการทำให้สิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งการจะเกิดรูปธรรมได้นั้นต้องปฏิรูปกระบวนการนโยบายสาธารณะ เครื่องมือตัดสินใจ และกฎระเบียบ โดยจำเป็นต้องปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน และประชาชน เกิดการขยายพื้นที่ทางการเมือง และรื้อสร้างนโยบายสาธารณะและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นนั้นไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจ
ดังนั้น การปฏิรูปเพื่อรองรับสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม คือ การรื้อ-สร้าง โครงสร้างและระบบการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment:EHIA) ใหม่ เพราะขณะนี้เกิดมโนทัศน์ระบบดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ/นักเทคนิค ทำให้ชุมชนที่ไม่มีความรู้ถูกจำกัด ส่งผลให้หลายพื้นที่ต้องสร้างเครื่องมือตัวใหม่ขึ้นมาต่อสู้แทน นั่นคือ การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment:CHIA)
สำหรับรายละเอียดการรื้อ-สร้างระบบ ‘EIA&EHIA’ นั้น ดร.บัณฑูร ระบุว่า จะต้องแยก ‘เจ้าของโครงการ’ ออกจาก ‘ผู้ทำ EIA’ และกำหนดอายุ มิใช่สามารถแก้ไขได้หลายรอบ รวมถึงต้องปฏิรูปองค์กรด้าน EIA ของรัฐ ให้เป็น ‘องค์การมหาชน’ นอกจากนี้ในหลายโครงการจำเป็นต้องกลับไปดูนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ อันเป็นที่มาของโครงการนั้น ๆ ด้วย จึงต้องใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือให้ชุมชนได้ใช้สิทธิที่มีอยู่ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ จะต้องสร้างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมรองรับสิทธิชุมชนอย่างน้อย 5 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535, สิทธิชุมชนกับการร่วมจัดการฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, การมีส่วนร่วมภาคประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ, เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และองค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
“ถึงเวลาต้องปฏิรูประบบ EIA และเริ่มต้นระบบ SEA พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมาย มิเช่นนั้นจะเกิดการฟ้องร้องคัดค้านนโยบายสาธารณะ โดยอ้างสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานภาครัฐอีกมากมาย” ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าว
ด้านรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในอดีตเรื่องสิทธิชุมชนที่ว่าด้วยเรื่อง ดิน น้ำ ป่า เคยมีความเข้มแข็งมาก่อน แต่ในขณะนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 การเคลื่อนไหวจะมุ่งหน้าสู่รัฐสภาเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ได้มีการเคลื่อนไหวและผลักดันอยู่เรื่อยๆ
จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2549 เครือข่ายที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันเริ่มมีการถอยห่างออกจากกัน เนื่องจากมีจุดยืนทางด้านการเมืองที่แตกต่างและทำให้การเคลื่อนไหวไม่เป็นหนึ่งเดียวกันจึงส่งผลให้การเคลื่อนไหวอ่อนแรงลง
“สิ่งที่เกิดขึ้นในด้านสิทธิชุมชนนั้น ขณะนี้ก็ยังมีการเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่การมุ่งหน้าเข้าสู่สภาเหมือนในอดีต เป็นการหันมาสู่ อปท.” นักวิชาการ มช. กล่าว และว่าเนื่องจากชาวบ้านมองการผลักดันหรือเปลี่ยนตัวกฎหมายในระบบรัฐสภาเป็นเรื่องยากและไกลมือ จึงเริ่มมีแนวคิดหันมาใช้เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือแทน .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ประชาธรรม