'ฆ่าไม้หนึ่ง - ตั้งองค์กรกำจัดขยะ' นักสันติวิธี เชื่อนำสู่ความเกลียดชังสูง
ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ชี้เหตุขัดแย้งในสังคมวันนี้เพราะกระตุ้นความเกลียดชังด้วยคำว่า ชาตินิยม ย้ำประตูทางออกยังไม่ปิดตาย ด้าน สมชัย ฤชุพันธ์ุ ระบุกระจายอำนาจจะช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น
28 เมษายน 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)จัดเวทีสาธารณะ “ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย” ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ชั้น 2 โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ทั้งนี้ภายในงานมีเสวนาในหัวข้อ “การกระจายอำนาจ ความยุติธรรม และสันติวิธี”
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยคุกคามทางการเมือง ปัญหาประชาธิปไตยมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้สึกโกรธมากเวลาพูดถึงการเมือง ซึ่งอาจตอบได้ว่า คนเหล่านั้นคือคนที่มีประสบการณ์ผ่านความรุนแรงมามาก อาจเป็นกลุ่มคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดังนั้น เรื่องของสังคมไม่ใช่ข้อยกเว้นเรื่องความรุนแรง
"วันนี้เราสามารถทำสิ่งซึ่งน่ารังเกียจ และทำได้ด้วยวิธีการอธิบายว่าต้องทำในนามชาตินิยม ใครก็ตามที่ใช้วิธีดังกล่าวอธิบายความขัดแย้งว่า ไม่รักชาติไม่ใช่คนไทย แล้วมากระตุ้นคนในสังคมจนกลายเป็นปัญหาสังคมไทยในวันนี้ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้"
ดร.ชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงสัญญาณที่ไม่ค่อยดีในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ โดยยกตัวอย่างกรณีที่ ศอ.รส.สนับสนุนบรมราชวินิจฉัยว่า คู่ขัดแย้งเปลี่ยนสภาพ และไม่ควรจะเป็นอย่างหนึ่งของคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพในการแก้ปัญหาลดลง หรือองค์กรกำจัดขยะก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดี หากใช้เราคิดแบบนี้เท่ากับว่า คนจำนวนหนึ่งในประเทศนี้เป็นขยะเรากำลังมองคนอีกจำนวนหนึ่งไม่ใช่มนุษย์ หรือกรณีที่ครอบครัวแจ้งความจับกุมลูกสาวในข้อหาหมิ่นสถาบัน สุดท้ายฆาตรกรรมไม้หนึ่ง ยิ่งเป็นสัญญาณที่เลวร้ายที่สุด
"เหตุการณ์หรือวิธีการที่นำมาใช้กันในขณะนี้จะนำไปสู่ความเกลียดชังสูง หากเป็นเช่นนี้จะหาวิธีการจะแก้ปัญหาสังคมไทยอย่างไร" ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามเราต้องนำเสนอแนวคิดให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่หมดหวัง หรือมัวแต่รอทำร้ายกัน จึงอยากเสนอแนวทางหรือข้อเสนอที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา เช่น สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง อาจจะมีช่องให้เขาไปลงคะแนนว่า ไม่เห็นด้วย ช่วยกันเฝ้าระวังสื่อไม่เห็นเกิดวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง หรือหากเกิดความขัดแย้งแล้วเราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะประคับประคองให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และที่สำคัญอย่างไรเงื่อนไขของความปรองดองก็ต้องเกิดขึ้น
ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวด้วยว่า วันนี้เราอยู่บนความขัดแย้งระหว่างโลกเก่าที่ไม่ยอมตายและโลกใหม่ที่ไม่มีกำลังที่จะปรากฎตัวขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปิดช่องตาย เรายังคงพอมองเห็นลู่ทางใหม่ๆในการจัดการปัญหา และยังเชื่อว่าระดับความรุนแรงขณะนี้ยังต่ำอยู่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามเราไม่ควรดูถูกความคิดของตัวเองในการแก้ปัญหานอกเหนือจากการใช้ความรุนแรง
ด้านศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธ์ุ สถาบันพัฒนาสยาม กล่าวถึงมาตรการในการแก้ไขทำให้สังคมดีขึ้นไม่ก่อตัวเป็นสังคมที่มีความขัดแย้ง คือ การกระจายอำนาจ ในรัฐธรรมนูญเขียนว่าว่า รัฐไทยต้องกระจายอำนาจ แม้จะมีกฎหมายแต่การบังคับใช้ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง สังคมไทยเป็นสังคมที่เก่งมากในการออกกฎหมาย แต่การบังคับใช้ของเรากลับอ่อนแอ ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในสังคมส่วนรวมฝืนกฎหมายคือถ้าไม่เห็นด้วยก็จะไม่ปฏิบัติตาม โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่และการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้เราต้องพิจารณาใหม่รูปแบบการบริหารจัดการบ้านเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจเหมาะสมหรือไม่ และเห็นว่าอย่างไรแล้วรัฐก็ควรกระจายอำนาจแต่ให้เป็นการบริหารเชิงพื้นที่ทั้งในส่วนภูมิภาค