วิกฤติปชก.ผู้สูงอายุรุกคืบ “โฆสิต” แนะมีวินัย เก็บออม วางแผนการเงินก่อนสาย
'โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์' ย้ำชัดวิกฤติประชากรผู้สูงอายุคืบคลานเข้ามาแล้ว ทั้งที่รู้ล่วงหน้า มีข้อมูลมายาวนาน แต่สังคมไทยส่วนใหญ่กลับ มองไม่เห็นปัญหา ชี้ต่อให้งลุกขึ้นมากทำตอนนี้ ไม่แน่ใจทันวิกฤติหรือไม่
วันที่ 28 เมษายน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเสวนาวิชาการ “เดินหน้าปฏิรูประบบบำนาญแห่งชาติ เพื่อผู้สูงอายุ” ณ ศูนย์ประชุม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดี โดยมีนพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเปิดการประชุม โดยระบุ ปัญหาสำคัญ ที่สุดของผู้สูงอายุคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจการเงิน พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ที่มีการผลักดันโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ แต่มาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่มีการผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ได้จริง ทำให้แรงงานนอกระบบซึ่งเป็นสัดส่วนแรงงานส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ ได้รับผลกระทบเรื่องการออมเงิน
นพ.บรรลุ กล่าวถึงการมีบำนาญแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกคนก็ต้องมีสัมมาอาชีวะ มีรายได้มากกว่ารายจ่าย และต้องนำเงินเหล่านั้นมาออมด้วย
จากนั้น นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและแผนประชากร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต่อครอบครัวและผู้สูงอายุในประเทศไทย” ตอนหนึ่งถึงวิกฤติประชากรผู้สูงอายุที่ต้องเริ่มหันมาดูแลตั้งแต่วันนี้ มิเช่นนั้นแล้วการแก้ไขปัญหาจะยิ่งลำบากมากขึ้น ด้วยจำนวนคนเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
“วิกฤติประชากรผู้สูงอายุได้คืบคลานเข้ามาเรียบร้อยแล้ว เรารู้ล่วงหน้า มีข้อมูลรับรู้มาอย่างยาวนาน เมื่อเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่สังคมไทยส่วนใหญ่กลับยังไม่มองเห็นถึงปัญหา โดยเฉพาะคน 1 ใน 4 ของประเทศ จะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ จำนวนไม่ใช่น้อยๆ ดังนั้นการปฏิรูปจำเป็นต้องทำ แต่ถึงลุกขึ้นมากทำ ก็ยังไม่แน่ใจว่า จะทำได้รวดเร็วแค่ไหน และทันกับวิกฤติหรือไม่”
นายโฆสิต กล่าวถึงการที่ประชากรไทยไม่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้บริโภคลดลง ค่าแรง ค่าจ้างก็สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ความสามารถของประเทศในการดูแลผู้สูงอายุจะลดลงตามไปด้วย
“เราเข้าสู่วิกฤติประชากร เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ แต่ ณ จุดนี้ประเทศไทยยังยากจนอยู่ แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่เข้าสู่วิกฤติผู้สูงอายุ ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เข้าสู่วิกฤติผู้สูงอายุเมื่อประเทศรวยแล้ว ตรงนี้เป็นกรอบใหญ่ที่สำคัญ ทำอย่างไรเราจะเพิ่มความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุได้”
นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ ต้องหันมาดูเรื่องการออม ซึ่งสวนทางกับทางการเมืองที่กระตุ้นให้คนบริโภคมากๆ การยุยงให้คนบริโภคเกินความพอดีนั้นทำให้ความสามารถในการเก็บออมน้อยลง ในที่สุดก็ต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน
“การที่ประเทศต้องเจอวิกฤติประชากรผู้สูงอายุ การออมจะต้องไม่ถูกกระทบกระเทือน ถือเป็นหัวใจของกรอบใหญ่ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคณะขับเคลื่อนมองว่า การยุยงให้คนบริโภคมากมายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะยิ่งทำจะทำให้วิกฤติเกิดขึ้นสร้างผลกระทบมหาศาล”
ทั้งนี้ นายโฆสิต ยังกล่าวถึงการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาสังคมไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไป และเพิกเฉยเกินความจำเป็น ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกัน อันดับแรก ต้องมีวินัยการเงิน มีการวางแผนการเงิน มีการออม เพื่อเป้าหมายให้การเงินมีความมั่นคง หลังเกษียณมีเงินจำนวนหนึ่งที่เป็นของเราเอง ขณะที่ระบบอื่นๆ ก็จะเข้ามารองรับสนับสนุนตรงจุดนี้ด้วย
“โจทย์ใหญ่ของครอบครัว จึงไม่ใช่แค่ผู้เกษียณเพียงคนเดียว คำถาม คือ ครอบครัวหนึ่งจะดูแลความมั่นคงทางการเงินได้อย่างไรจนกระทั่งสิ้นอายุขัย วันนี้เหมือนการเข็นครกขึ้นภูเขา ไม่มีใครอยากทำอะไรมากนัก แต่เมื่อไหร่เห็นปัญหาวิกฤติประชากรผู้สูงอายุชัดเจนแล้ว ต่อให้ลุกขึ้นมาทำก็สายเสียแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการออม ที่มีคำกล่าวว่า หากเราจะออมวันพรุ่งนี้ ก็เสียเวลาไป 1 วัน เพราะ 1 วันมีผลตอบแทน ”