เดินหน้า ทวงคืน พรบ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554
นับตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) เนื่องจากสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 10.7 หรือประมาณ 7ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคาดว่าในปี 2558 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นร้อยละ 14 และร้อยละ 19.8 ในปี 2568 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด
การเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรของประเทศพบว่า อัดตราส่วนการเกื้อกูล ผู้สูงอายุของประชากรวัยทำงาน ต่อประชากรสูงอายุ 1คน ค่อยๆ ลดลงในปี 2551 เท่ากับ 6.07 คน จะลดลงเป็น 2.52 คน ในปี 2573 และระบบเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุในปัจจุบัน รัฐบาลจ่ายคนละ 600-800 บาทต่อเดือน โดยพิจารณาตามช่วงอายุ และจำนวนเงินดังกล่าว คงจะไม่เพียงพอดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี การมีหลักประกันทางด้านรายได้ยามชราภาพ จะช่วยเพิ่มความสารถในการเพิ่งพาตนเอง ให้กับผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจน หรือที่ยังขาดการดูแล ที่นับวันจะมีจำนวนมากขึ้น
การออกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) พ.ศ.2554 นับว่าเป็นการสร้างหลักประกันด้านได้รายแก่ประชาชนยามชราภาพถ้วนหน้าอันเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน สำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ในการเป็นพลเมืองของประเทศ และเป็นการส่งเสริมการออมของประชาชน เพื่อการมีหลักประกันด้านรายได้ สำหรับการรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตที่กำลังจะมาถึง
พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และกำหนดให้มีการเปิดรับสมาชิก กอช. และจ่ายเงินสะสมเมื่อพ้นกำหนด 360 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง ได้ประกาศว่าจะเริ่มรับสมาชิก กอช.แต่แต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 แต่รัฐมนตรีวาการกระทรวงการคลังไม่เสนอร่างกฎหมายลำดับรองต่างๆต่อคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบเพื่อเปิดรับสมาชิกและนับถึงบัดนี้ก็นับเป็นระยะเวลากว่า3ปีแล้ว ที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย โดยยึดเหตุผลทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประชนและประเทศชาติเป็นหลัก
การมีเจตนาเพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ย่อมถือได้ว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ได้ละเมิดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ หรือระบอบรัฐสภาที่พิจารณากลั่นกรองตรากฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว ทั้งนี้ทางเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ได้ดำเนินการยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องให้กับสังคม โดยศาลได้รับคำฟ้องเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2556
เครือข่ายบำนาญภาคประชานเห็นความสำคัญของการมีหลักประกัน ทางรายได้ของผู้สูงอายุในอนาคตและยังเป็นการลดภาระ ของประชาชนรุ่นหลัง เรื่องการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นสูง รวมถึงการลดภาระการเงินการคลังของประเทศในอนาคตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบบการสร้างหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ จึงเรียกร้องให้การนำ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มาบังคับใช้อย่างจริงจังและทันที เพื่อสังคมไทยและสังคมผู้สูงอายุในอนาคตเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.)
วันที่ 28 เมษายน 2557
-
file download