10 ปีกรือเซะ...บทเรียนที่ไม่ควรลืม
วันนี้ (28 เม.ย.2557) เป็นวันครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์กรือเซะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขออุทิศพื้นที่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ในยามที่คงไม่มีใครสนใจจะเอ่ยถึง นอกจากมาตรการเฝ้าระวังเหตุรุนแรงของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมักมีข่าวทุกครั้งในวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญของพื้นที่ปลายด้ามขวาน
และฝ่ายความมั่นคงเองนั่นแหละที่ชอบตำหนิสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมว่าชอบพูดถึงเหตุการณ์กรือเซะในลักษณะของการ "สะกิดแผลเก่า" ให้มันปะทุขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่เรื่องจบไปนมนานแล้ว
ในมุมมองของภาครัฐ เรื่องนี้อาจจะจบไปนานแล้ว แต่ในมุมมองของคนในพื้นที่ ไม่เฉพาะเหยื่อในเหตุการณ์ พวกเขายังไม่รู้สึกว่าเรื่องจบ เพราะเกือบจะไม่มีกรณีไหนเลยที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจรายละเอียดของเหตุการณ์กันก่อน เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 แม้จะเรียกกันว่า "เหตุการณ์กรือเซะ" แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานีเพียงแห่งเดียว แต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย ทว่ายังมีเหตุรุนแรงและความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีกนับสิบจุดใน จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา จากการบุกโจมตีป้อมจุดตรวจของกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนในช่วงเช้ามืดของวันนั้น
ป้อมจุดตรวจแห่งหนึ่งที่ถูกโจมตีคือ "จุดตรวจกรือเซะ" ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ด้านหน้ามัสยิด ผู้บุกรุกส่วนใหญ่มีเพียงมีด กริช และไม้ จึงมิอาจต้านทานการป้องกันและตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ได้ กลุ่มผู้โจมตีส่วนหนึ่งวิ่งหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ หลายฝ่ายเชื่อว่ามีชาวบ้านมุสลิมที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์จำนวนหนึ่งประกอบศาสนกิจอยู่ก่อนแล้ว
เจ้าหน้าที่ปิดล้อมมัสยิดกรือเซะและเจรจาต่อรองให้กลุ่มผู้บุกรุกยอมวางอาวุธมอบตัว ขณะที่ในจุดอื่นเหตุการณ์จบลงด้วยความสูญเสียของฝ่ายผู้เข้าโจมตีเกือบทั้งหมด
ทว่าเจรจาตั้งแต่เช้าถึงบ่ายไม่เป็นผล การข่าวของฝ่ายความมั่นคงแจ้งว่าหากปล่อยให้เย็นย่ำค่ำมืดอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนขึ้นได้ จึงมีคำสั่งให้ยิงอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 คนดังกล่าว (ช่วงระหว่างการเจรจามีรายงานว่ามีการยิงออกมาจากมัสยิดจนทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง)
หลังเกิดเหตุ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ มี นายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธาน แม้ผลการไต่สวนจะไม่ได้สรุปว่าใครผิดหรือถูก แต่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจสั่งการในพื้นที่ ณ ขณะนั้นไว้ตามสมควร
ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อคดีกรือเซะเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะขั้นตอน "ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ" หลายกรณีที่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน เช่น เยาวชนทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่ถูกยิงเสียชีวิตถึง 19 คน สภาพศพบางคนคล้ายถูกจ่อยิงในระยะเผาขนทั้งๆ ที่ยอมให้จับกุมแล้ว หรือกรณีที่สงสัยกันว่ามีประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ก่อความไม่สงบปะปนอยู่ในมัสยิดกรือเซะด้วยหรือไม่ เพราะบางคนก็อายุ 40-50 ปี ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ได้รับการพิสูจน์ให้กระจ่าง และอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีทั้งหมด
คดีกรือเซะที่ขึ้นสู่ศาลมีเพียงคดีเดียว คือ คดีจับกุม นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ จากเหตุปะทะที่ สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องในวันที่ 28 เม.ย.2547 เช่นกัน นายอับดุลรอนิงถูกยิงได้รับบาดเจ็บ แต่เจ้าตัวอ้างว่าเขาติดไปกับกลุ่มที่ก่อเหตุโจมตี สภ.แม่ลาน เพราะได้รับการว่าจ้างให้ขับรถไปส่งลูกจ้างกรีดยาง โดยที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางคือการไปโจมตีโรงพัก
วันนี้ศาลฎีกาพิพากษาคดีของเขาแล้ว คือ จำคุกตลอดชีวิต ในขณะที่การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกตั้งคำถาม กลับไม่ได้รับการพิสูจน์ผิดถูกโดยกระบวนการยุติธรรม!
แม้ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีการจ่ายเงินเยียวยาอัตราใหม่ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ กรณี 19 ศพสะบ้าย้อย รายละ 7.5 ล้านบาท รวม 142 ล้านบาท ส่วนจุดอื่นๆ เช่น มัสยิดกรือเซะ ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รายละ 4 ล้านบาท รวมๆ แล้วก็ 160 ล้านบาทเศษ
เงินงบประมาณกว่า 300 ล้านบาทกับเหตุการณ์เพียงวันเดียว จะว่ามากก็มาก แต่หากเทียบกับชีวิตคนที่ต้องสูญเสียไป ย่อมมีค่าน้อยกว่าแน่นอน ทว่าความยุติธรรมและการยกระดับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในสงคราม ณ ปลายด้ามขวานซึ่งคู่ขัดแย้งเป็นเพื่อนร่วมประเทศเดียวกัน น่าจะเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายไม่ควรลืมในวาระ 10 ปีเหตุการณ์กรือเซะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มัสยิดกรือเซะ (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)