“ดร.มานะ”มองปรากฎการณ์“ผู้ประกาศ-นักข่าว”ย้ายช่อง อาจมีอีกรอบ
“หลังจากนี้จะมีปรากฎการณ์สื่อบางสื่อที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ก็จะมีการคิดทบทวนนโยบาย อาจจะมีการย้ายอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะคัดคุณภาพมากขึ้น ตอนนี้อาจจะไม่ได้คัดคุณภาพมากเท่าไร”
เมื่อ "ทีวีดิจิตอล" เปิดตัวอย่างคึกคัก มีทั้งเจ้าของรายใหม่-รายเก่า ทุ่มทุนเดินเข้าสู่ "ธุรกิจสื่อ" หลายราย ส่งผลให้การดึงตัว"ผู้ประกาศ-นักข่าว"คึกคักไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการ "พิธีชื่อดัง" ย้ายช่องไปแล้ว จึงสนทนากับ “ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านวิชาการ มองปรากฎการณ์ใน "วงการสื่อ" ในภาพกว้างได้มากขึ้น
@ มองการซื้อตัวผู้ประกาศข่าวจากช่องหลักไปทีวีดิจิตอลช่องเกิดใหม่อย่างไร
ผมคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาในยุคฟองสบู่ของสื่อมวลชน แต่ละคนต้องหาสิ่งที่ดีกว่า ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือความสามารถของผู้ประกาศและนักข่าว ว่ามีขีดความสามารถในการผลิตชิ้นงานได้มากน้อยแค่ไหน และสิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณของสื่อมวลชนจะต้องมีควบคู่กันไปด้วย
การย้ายช่องอาจจะมีความเป็นอิสระในการนำเสนอต่างออกไปจากเดิม แต่ละองค์กรก็มีนายทุนที่แตกต่างกัน หากผู้ประกาศและนักข่าวต้องหาที่ยืนให้ได้ เพราะในระบบที่มีนายทุนอาจจะทำให้การทำงานเปลี่ยนไป ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ประกาศและนักข่าวเอง ซึ่งต้องไม่หวั่นไหวแม้ว่าจะอยู่ช่องไหน ถ้ายึดจรรยาบรรณได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
@ จะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ การไหลของผู้ประกาศข่าวจะนิ่ง
น่าจะมีในช่วง 1-2 เดือนนี้ หลังจากนี้จะมีปรากฎการณ์สื่อบางสื่อที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ก็จะมีการคิดทบทวนนโยบาย อาจจะมีการย้ายอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะคัดคุณภาพมากขึ้น ตอนนี้อาจจะไม่ได้คัดคุณภาพมากเท่าไร อีกอย่างคือวัฒนธรรมขององค์กรจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ถ้าผู้ประกาศและนักข่าวปรับตัวได้ก็ไม่มีปัญหา แต่คนที่ปรับตัวก็ไม่ได้ก็อาจจะมีการทบทวน
@ แต่มองไปที่ทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส มีผู้ประกาศลาออกหลายคน
ผมมองเป็นเรื่องปกติ เพราะเงื่อนไขของทีวีสาธารณะ ไม่สามารถแข่งกับเอกชนได้ ขีดความสามารถในการจ่ายค่าตอบแทนเอกชนมีเยอะกว่า รวมถึงตำแหน่งงานที่ใหญ่กว่าเป็นแรงดึงดูดที่สูงอย่างยิ่ง ในการจูงใจผู้ประกาศและนักข่าวที่จะย้ายไปเอกชน
@ ทางออกของทีวีสาธารณะจะต้องทำอย่างไร ถึงจะรั้งบุคลากรเอาไว้ได้
หากจะรั้งบุคลากรเอาไว้คงยาก ดังนั้นทีวีสาธารณะต้องหันมาพัฒนาคุณภาพคนที่มีอยู่ แล้วไปเชื่อมเครือข่ายกับองค์กรอื่น เช่น กลุ่มคนด้อยโอกาส ชุมชน สถาบันการศึกษา เป็นต้น เมื่อรั้งคนเอาไว้ยาก จึงต้องหันมาเร่งพัฒนาเลือดใหม่ แล้วเร่งพัฒนาแนวคิดเวทีสาธารณะให้กับบุคลากร ปลูกจิตสำนักให้มากที่สุด
“ผมเชื่อว่าแม้มีการซื้อตัวกันเยอะ ก็ยังพอมีบางคนที่ไม่แคร์เรื่องเงิน ขอทำงานเพื่อสาธารณะ แต่ก็คงมีน้อย ซึ่งก็ยังพอมีแง่ดีอยู่ ตรงที่ถ้าเขาได้รับการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะ เมื่ออยู่ในองค์กรใหม่ก็จะสามารถนำแนวคิดสาธารณะไปใช้ได้”
@ ขณะนี้เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของวงการสื่อ ทั้งผู้ประกาศและนักข่าวควรปรับตัวอย่างไร
ผมยังเชื่อว่านักข่าวที่มีคุณภาพก็ต้องเป็นที่หมายตา เหมือนปี 2533 ช่วงนั้นอุตสาหกรรมสื่อบูมมาก มีการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เช่น มติชน ผู้จัดการ ตอนนั้นมีการซื้อตัวนักข่าว ซื้อตัวบรรณาธิการข่าว แต่พอปี 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ลอยแพนักข่าว ตอนนี้ผมก็เป็นห่วงเรื่องนี้อยู่
“แต่ละองค์กรยังมีความเสี่ยงสูง ผู้ประกาศและนักข่าวควรที่จะพัฒนาคุณภาพของตัวเองให้เป็นตัวจริงของวงการ ถ้าเป็นตัวจริงจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ก็อยากเตือนว่าควรเก็บเงินเอาไว้ด้วย อย่าเพิ่งเป็นหนี้ระยะยาว เพราะสถานการณ์ของสื่อมวลชนยังไม่มีความแน่นอน”
@ ยังมองว่าอาจจะมีทีวีดิจิตอลหลายช่องที่จะไปไม่รอด
เต็มที่อีกประมาณ 2-3 ปี เราจะเห็นว่ามีองค์กรไหนอยู่รอด องค์กรไหนอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อตัวสื่อมวลชนโดยตรง เพื่อความอยู่รอดขององค์กรหากไม่สามารถหารายได้มาได้เยอะ เขาก็ต้องลดเงินเดือน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มีปัญหา จึงไม่กระทบต่อรายได้ แต่เมื่อถึงเวลามีปัญหาเงินเดือนอาจจะไม่เท่าเดิม ต้องเตรียมมือรับมือให้ดี