ไม่ปฏิรูปการเลือกตั้ง มีนักการเมืองที่ดีก็เป็นเพียงความฝัน...?
“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในสังคมวันนี้ ไม่ใช่คนทำชั่วมากขึ้น และไม่ใช่คนทำดีน้อยลง
แต่อยู่ที่คนแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรชั่วอะไรดี”
25 เมษายน 2557 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจัดงานสัมมนาเรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดินสัญจรเพื่อมุ่งสร้างคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทย” โดยภายในงานมีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “นักการเมืองที่ดี...ฤาจะมีแต่ในฝัน” ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้นส์
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เริ่มต้นกล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ทำให้หลายคนสิ้นหวังกับนักการเมือง และในฐานะที่อยู่ในแวดวงการเมืองมา 3 ปี ก็ตั้งคำถามกับตัวเองเช่นเดียวกันว่า นักการเมืองที่ดี ฤาจะมีแต่ในฝัน เพราะนักการเมืองบางคนที่รู้จักก่อนที่จะเข้ามาเป็นส.ว. มองดูแล้วเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ เห็นว่าขณะทำงานราชการดูเป็นคนดีน่านับถือ เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองน่าจะเป็นความหวังของประเทศได้ แต่เมื่อทำงานด้วยกันกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
"สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในสังคมวันนี้ไม่ใช่คนทำชั่วมากขึ้น และไม่ใช่คนทำดีน้อยลง แต่อยู่ที่คนแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรชั่วอะไรดี"
ส.ว.วันชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับนักการเมืองที่ดียังคงมีอยู่ แต่จะโดนกลบโดยเสียงส่วนใหญ่เท่าที่เราทุกคนได้เห็นและปรากฏ วันนี้คนดีๆกลายเป็นเสียงข้างน้อยและไม่ค่อยมีเสียงทางการเมืองสักเท่าไหร่ สาเหตุที่ทำให้คนดีเปลี่ยนไปเกิดจากเงิน อำนาจ และผลประโยชน์ และที่เหตุการณ์บ้านเมืองเลยเถิดมาจนทุกวันนี้เริ่มต้นจากส.ว.ทั้ง 6 คนที่เป็นแกนนำสำคัญที่ใกล้จะหมดวาระ และรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสมาชิกวุฒิสภาจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันไม่ได้ แกนนำทั้ง 6คนไปคุยกับคนในฝั่งรัฐบาลเพื่อแก้กฎหมายให้ลงเลือกตั้งต่อไปได้ ให้มีอำนาจต่อไป ฝ่ายนั้นก็ยอมรับ แต่ก็มีข้อตกลงต่อรองว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฝ่ายส.ว.ก็ต้องสนับสนุนรวมถึง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท นี่คือสาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ เพียงเพราะคนอยากมีอำนาจ ถึงได้มีคำกล่าวว่า อำนาจทำให้คนเปลี่ยน
“ปรัชญาของนักการเมืองกับข้าราชการนั้นก็ต่างกัน ข้าราชการทำงานเพื่อส่วนรวมประชาชน เพื่อศักดิ์ศรี ส่วนนักการเมืองที่เป็นพ่อค้านักธุรกิจทำงานเพื่อเงินกับผลกำไร ทำเพื่อตัวเอง ครอบครัว บริวาร ข้าราชการทำงานโดยมีระเบียบข้อบังคับ พ่อค้านักธุรกิจหาช่องว่างของกฎหมาย วันหนึ่งพ่อค้านักธุรกิจรู้สึกว่ามีเงินเยอะแต่ไม่มีคนนับถือดูไม่คึกคัก อยากมีเกียรติยศศักดิ์ศรีก็เข้ามาเล่นการเมือง เมื่อเข้ามาจิตวิญญาณของนักธุรกิจที่จะแสวงหาแต่ผลกำไรก็ต้องจบลงไปด้วย”
ทุจริตจับได้ต้องเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
นายวันชัย กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วเมื่อบุคคลเหล่านี้เข้ามากลับไม่ได้ยุติบทบาทของการเป็นพ่อค้านักธุรกิจ เข้ามาทำเพื่อตัวเอง ครอบครัว สมัยนี้ใครจะยึดอำนาจในประเทศไทยไม่ต้องใช้ปืน หรือรถถังแล้ว เพราะว่าล้าสมัย และสังคมโลกเขาไม่ยอมรับ วันนี้ใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาทก็ยึดอำนาจประเทศไทยได้แถมเนียนและดูดี
"วันนี้นักการเมืองน้อยคนที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐ หรือนิติบัญญัติโดยไม่ใช้เงิน และเมื่อเราเอาเงินเป็นตัวตั้งแล้วจะไปฝันถึงนักการเมืองดีๆได้อย่างไร สิ่งที่น่าตลกของเมืองไทย คือ เวลานักการเมืองไปที่ไหนต้องมีคนตามเต็มไปหมด ขณะที่ประเทศอื่นๆเขาใช้ชีวิตกันปกติ ขึ้นรถไฟฟ้าโหนรถเมล์ไปทำงาน เพราะเป็นแบบนี้จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราต้องปฏิรูประบบการเลือกตั้ง”
ส.ว.วันชัย แนะนำด้วยว่า กรณีที่มีการทุจริตการเลือกตั้งต้องไม่ใช่แค่การให้ใบเหลืองใบแดง ใครทุจริตจับได้ต้องไม่มีสิทธิเล่นการเมืองตลอดชีวิต พ่อแม่ลูกเมียก็ไม่ควรมีสิทธิมาลงเล่นการเมือง ไม่เช่นนั้นจะมีนอมีนีมาแทน เวทีสภาวันนี้ก็ไม่ใช่เวทีที่ใช้สติปัญญาถกเถียงกันด้วยเหตุผล แต่เป็นเวทีของการกดปุ่ม ทุกอย่างดูเป็นธุรกิจ ส.ส.กลายเป็นเครื่องมือบุคคลากรที่เขามาเติมเต็มโดยมีเงินเป็นอุปกรณ์
“ถ้าเรายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ผมยืนยันเลยว่า เลวร้ายแบบเบ็ดเสร็จ และเราไม่มีทางที่จะได้คนดีมีความรู้ เสียสละ ทุ่มเท มาทำงานการเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิรูปในหลายเรื่องไม่เช่นนั้น หากอยากได้นักการเมืองที่ดีก็คงเป็นได้แค่ฝันและฝันร้ายต่อไปแบบนี้เรื่อยๆ”
ส.ว.เลือกตั้ง ใช้ไม่ได้กับประเทศไทย
ด้านนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวถึงนักการเมืองในอดีตในยุคแรกเป็นคนดีทั้งนั้น การทุจริตสมัยก่อนก็ไม่มี เวลาหาเสียงก็หาเสียงตามยถากรรม คนดีมีชื่อเสียงในพื้นที่ได้รับการเลือกตั้ง และในยุคนั้นคนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักกฎหมาย ข้าราชการ แต่จะไม่มีพ่อค้านักธุรกิจ เราจึงได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้การทำหน้าที่ในสภากลุ่มสมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ได้มีคุณภาพมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และส.ว.สรรหาก็มีคุณภาพมากกว่าส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง
"ส.ว.ต้องกลั่นกรองกฎหมาย ต้องยึดโยงกับประชาชน สมควรต้องมาจากการเลือกตั้ง ถ้าตามหลักการแล้วเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ว่าใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะสิ่งแรกที่ไปเหยียบสภาคือคิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรจะได้เงินคืน อีกทั้งสภาพัฒนาการเมืองเคยสอบนักการเมืองถึงความเข้าในในการทำหน้าที่ ระเบียบวาระพิจารณากฎหมายในสภา การเสนอร่างกฎหมาย ปรากฏว่า นักการเมืองสอบตกหมด เพราะไม่มีความเข้าใจในการเข้ามาทำหน้าที่อย่างแท้จริง"
ขณะที่ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีนักการเมืองที่ดีน้อยมาก น่าแปลกไหมยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ทำไมนักการเมืองกลายเป็นคนเลวมากกว่าคนดี ดังนั้นกลไกขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบนักการเมือง แต่ก็กลับตรวจสอบได้น้อยลง การจะมีนักการเมืองดีหรือไม่ดี สังคมต้องมีทิศทางไปในแนวเดียวกัน และขึ้นอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้เลือก หากประชาชนไม่เข้าใจการเมือง ขาดสติปัญญา ยังพึ่งระบบอุปถัมภ์เราก็ย่อมได้นักการเมืองที่ซื้อสิทธิขายเสียงเข้ามา
สำหรับการแก้ปัญหา ศ.ดร.ธีรภัทร์ กล่าวว่า ต้องยกระดับสังคม เช่น ระบบการศึกษา ศาสนา ยกย่องคนดีในสังคม อบรมให้ได้คนดีต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ แต่ปัญหานี้จะทำอย่างรวดเร็วไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป การปราบปรามแก้ไขก็เช่นเดียวกันแม้จะเป็นส่วนของปลายเหตุ แต่เราก็ต้องพยายามทำไปพร้อมๆ กัน และหาแนวทางที่ได้ผล
"การหวังจะมีนักการเมืองที่ดีไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เราต้องทำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพื่อให้การเมืองเข้ารูป เข้ารอย และมีกลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ"
ส่วนศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เรามีหน้าที่ต้องทำให้ประเทศมีนักการเมืองที่ดีให้ได้ นักการเมืองของต่างประเทศส่วนใหญ่เวลามีปัญหาเขามักประกาศลาออกทันที นั่นแสดงให้เห็นถึงการมีคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งจริยธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรู้และมีอยู่ในสามัญสำนักของตนเอง
"เมืองไทยไม่ควรมีการลักหลับลงคะแนน หรือเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน เราจะทำอย่างไรที่จะให้การตรวจสอบนักการเมือง อย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. )ต้องเพิ่มเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ว่า บุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งเข้ามาต้องมีคุณธรรมจริยธรรมเรื่องใดบ้าง ถ้าไม่ดีควรมีบทลงโทษกับพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วยที่นำนักการเมืองไม่มีคุณภาพเข้ามา"